Transformative Learning : เรียนรู้จากอาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู

วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐ สำนักศึกษาทั่วไป จัดเวทีอบรมพัฒนาอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ผู้สนใจใน Transformative Learning (การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง) มีอาจารย์เข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๕ ท่าน บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป ๕ ท่าน ทีมวิทยากร ๓ ท่าน รวม ๒๓ คนผู้สนใจมาเรียนรู้ร่วมกัน

ผมเข้าใจ(มั่นใจ)ว่า สิ่งที่เรากำลังทำนี้คือปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นปฏิรูปการศึกษาในมหาวิทยาลัย Transformative Learning คือชื่อใหม่หลังจากใช้คำว่า "จิตตปัญญาศึกษา" ที่กลายมาเป็นเหมือนลัทธิใหม่ในความเห็นของอาจารย์ทั่วไป... แต่ผู้ใหญ่อย่างท่านหมอประเวศ วะสี ท่านยังคงใช้และเสนอให้ "จิตตปัญญาศึกษา" เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ (ผมสรุปสิ่งที่ท่านเสนอไว้ที่นี่)

การสร้างเสริมให้นิสิตที่เป็น "คนที่สมบูรณ์" ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก ตามเจตนาของการศึกษาทั่วไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเอา "จิตตปัญญาศึกษา" มาเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้นิสิตรู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า การจัดการเรียนการสอนรายวิชา 0032004 ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ คือกลไกหลักที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ... วิธีการคือพัฒนาอาจารย์ให้เป็นกระบวนกรพานิสิตนักศึกษาเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เกิดปัญญาเกี่ยวกับจิตของตนเอง 



อาจารย์ ๑๕ ท่านที่มารวมกันวันนี้ได้แก่ อ.นพคุณ ภักดีณรงค์ อ.วิไลลักษณ์ อุ่นจิตร อ.กันตา วิลาชัย อ.นริสา วงศ์พนารักษ์ อ.สรุเชต น้อยฤทธิ์ อ.ธวัช ชินราศรี อ.สุมลวรรณ ชุ่มเชื้อ อ.อินอร เลียวประเสริฐกุล อ.จารุวรรณ ชาป๊องทิเย่ร์ อ.ณภัสวรณ ธนาพงษ์อนันต์ อ.ภคินี ศรีสารคาม อ.สมเสาวนุช จมูศรี อ.จิตาพร จำรัสเลิศลักษณ์ อ.สุภลักษณ์ อรรถรังสรรค์ และผม อ.ฤทธิไกร ไชยงาม บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป ได้แก่ คุณยุภา พลตื้อ คุณมานะ ภูพันนา คุณสุภารัตน์ คำมุงคุณ คุณญาณฤทธิ์ อรัญมิตร และคุณภาณุพงษ์ คงสวัสดิ์ 

ผู้ที่เป็นปัจจัยให้การจัดโครงการนี้เกิดขึ้นได้ คือ อ.ณัฐฬร วังวิญญู และ อ.ธวัช ชินราศรี  ความสัมพันธ์อันดีของท่านทั้งสองทำให้งานครั้งนี้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านงบประมาณของรายวิชาไปได้ ...  อย่างไรก็ดี จากผลสำเร็จในการอบรมครั้งนี้ ทำให้เราได้รับอนุมัติให้จัดเวที ๒ วันแบบเต็มหลักสูตรขึ้นได้ในปลายเดือนถัดมา 

ประเด็นที่เห็นและระลึกได้จากการเรียนรู้กับตนเองจากเวทีนี้ เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านครับ 

จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ?

หากจะแปลว่า จิตตปัญญาศึกษา คือ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ผู้อ่านน่าจะสืบค้นบททบทวนวรรณกรรมได้ด้วยตนเอง มีผู้เขียนไว้เยอะมาก ... ไม่น่าสนใจ  สิ่งที่น่าสนใจคือ อ.ณัฐฬส ท่านอธิบายให้พวกเราฟังอย่างไรมากกว่า ...  ท่านอธิบายประกอบการเขียนคำสำคัญ (Keyword) ในลักษณะแบบแบ่งปันด้วยการสนทนา (Dialogue) สุดท้ายได้ชาร์ทดังรูปนี้ครับ 


ผมสรุปมาวาดรูปใหม่ ได้ดังรูป 


ผมสรุปว่า จิตตปัญญาศึกษา หรือ Contemplative Education คือ การเรียนรู้ภายในเพื่อให้จิตใจรู้สึกตัว ระลึกรู้ตนเองและรู้ตื่นต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ ตามเป็นจริง ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ภายในจะทำให้จิตใจรู้คุณค่าและเชื่อมั่นศรัทธาในคุณค่าของสรรพสิ่ง อันจะส่งผลต่อท่าทีและการะทำของผู้ศึกษา เช่น การช่วยเหลือ บริจาค การให้หรือสละออกซึ่งความยึดมั่นในตัวตน 

วิธีหนึ่งในการเรียนรู้ภายในคือ การทำกระบวนการของจิตใจให้ช้าลงก่อน ทบทวน โดยใช้คำถามว่า สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายนอกใจนั้นมีลักษณะและคุณค่าอย่างไร อะไรคือเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้น ๆ  จากนั้นก็เชื่อมต่อเข้าสู่ภายในผ่านการใคร่ครวญให้จิตใจจดจำสภาวะเหล่านั้น อันจะเป็นปัจจัยให้เกิดการระลึกรู้ตัวและตื่นรู้ต่อสรรพสิ่งต่อไป .... ทั้งหมดที่ว่ามานี้่เรียกว่า "การฟังอย่างลึกซึ้ง" หรือ Deep Listening

การฟัง ๓ ระดับ

ผมเคยเรียนเรื่อง "การฟัง ๔ แบบ" จาก อ.ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย (อ่านได้ที่นี่) และนำไปประยุกต์ใช้และบอกต่อไปมากมายในการทำงานขับเคลื่อน PLC ในพื้นที่ เวทีนี้ได้เรียนอีกกลวิธีในการอธิบายให้ความเข้าใจเรื่องฟังอย่างลึกซึ้ง ดังชาร์ทของท่าน


และ "การฟัง ๔ ระดับ" ดังชาร์ด้านล่าง


ผมถอดความและวาดเป็นแผนภาพใหม่ ดังรูปด้านล่างนี้


หลังจากได้เรียนรู้กระบวนการนี้แล้ว ผมรู้สึกเหมือนได้ "ประตู" สำหรับอำนวยให้นิสิตที่่ยังยึดติดกับการคิดอัตโนมัติตลอดเวลา (หลงคิดทั้งวัน) เข้ามาสู่การเรียนรู้ภายในตนเองแล้ว  ผมตีความว่า

  • ทุกคนมีโลกภายนอกและโลกภายใน หากเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว โลกภายนอกที่สังเกตเห็นเป็นพฤติกรรมนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับโลกภายใน/จิตใจตนเอง 
  • จิตตปัญญาศึกษาคือการศึกษาโลกภายในของตนเอง 
  • มีแต่เพียงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถเรียนรู้โลกภายในและกระบวนการของจิตใจของตนเองด้วยการเผชิญประสบการณ์ตรงได้... การศึกษาโลกภายในของคนอื่นไม่สามารถทำได้จริง เป็นแต่เพียงกระบวนการคิดวิเคราะห์จากการสังเกตด้วยการฟังเสียง (๗%) ฟังโทนเสียง (+๓๘%) และอากัปกิริยาสีหน้าท่าทาง (+๕๕%)  (เว้นแต่ผู้ศึกษามีอภิญญาหรือมีญาณหยั่งรู้เหนือบุคคลทั่วไป)
  • การฟังอย่างลึกซึ้งที่แสดงดังชาร์ทภูเขาน้ำแข็งนี้ น่าจะหมายถึงการศึกษาจิตตปัญญาของผู้อื่น โดยแบ่งออกได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่ 
    • ระดับที่ ๑ รับฟังแบบอัตโนมัติ เป็นการฟังแบบไม่ได้รู้สึกตัวเลย ไม่ได้ระลึกรู้เลยว่าตนเองกำลังฟัง สมองและหูทำงานร่วมกันอย่างเป็นอัตโนมัติ จิตใจหลงไปกับการรับรู้เรื่องราว(ผู้ฟังรู้เรื่องว่ากำลังฟังเรื่องอะไร แต่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังฟัง หลงคิดตลอด) ... Downloading
    • ระดับที่ ๒ รับฟังแล้วตอบสนองโต้แย้ง ปกป้องความคิดตนเอง ยังไม่ได้ระลึกรู้สึกตนเองเช่นเดียวกับระดับที่ ๑ การตอบสนองทางทางความคิดเป็นไปอย่างอัตโนมัติ (หลงคิดโต้แย้ง) และอาจถึงขั้นแสดงออกมาด้วยวาจาผ่านการโต้แย้งอภิปราย ซึ่งมักแสดงออกมาทางกายเช่น โทนเสียง สีหน้า ท่าที ท่าทาง และการกระทำต่าง ๆ 
    • ระดับที่ ๓ รับฟังอย่างอย่างตั้งใจรับรู้ความรู้สึกของผู้พูด  ผู้ฟังระลึกรู้ความรู้สึกตัวจึงไม่จมเข้าไปอารมณ์หรือเรื่องราวที่ฟัง และไม่เผลอคิดตัดสินโต้แย้งใด ๆ 
    • ระดับที่ ๔ รับฟังอย่างใคร่ครวญถึงความจำเป็น เจตนา คุณค่า ความต้องการของผู้พูด  ผู้ฟังต้องวางใจและระลึกรู้อย่างเป็นกลาง ไม่หลงประเมินเจตนา คุุณค่า และความต้องการด้วยอคติ หรือหลงกลแสดงของผู้พูด 
  • หากใช้กระบวนการฟัง ๔ ระดับนี้กับการศึกษาโลกภายในของตนเอง น่าจะเป็นการภาวนาแบบ "ดูจิต" สังเกตศึกษาจิตให้เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง

การตั้งแกน

การตั้งแกน หมายถึงการตั้งแกนของใจตนเองไม่ให้หลงไปในสิ่งเร้าทั้งจากภายนอกและความคิดจากภายในของตนเอง เป็นวิธีปฏิบัติฐานใจในการรับรู้ รับมือ หรือตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นกลางและมั่นคง ไม่หลงไปในเรื่องราวของผู้พูดหรือความคิดของตนเอง ... ผมไม่ขออธิบายมากไปกว่านี้  เพราะวิธีการนำเอากิจกรรมฐานกายมาอธิบายกระบวนการฐานใจของ อ.ณัฐฬส นั้น เป็นวิธีที่ผู้อ่านควรเรียนรู้จากท่านและทีมโดยตรง




ผมเคยคิดและใช้กิจกรรมลักษณะนี้หลายกิจกรรม เพื่ออธิบายการ "ประวิงเวลา" ให้ช้าพอที่จะใคร่ครวญศึกษากระบวนการของใจ เช่น กิจกรรมสลับตีมือ (อ่านได้ทีี่นี่) เป็นต้น

8 Acts

กิจกรรมปฏิสัมพันธ์ ๘ การแสดงนี้แยบยลในการนำเอาพฤติกรรมการตอบสนองของคนมาแยกแยะเป็น ๘ ลักษณะ ผมมั่นใจว่า อาจารย์เกือบทุกท่านที่เข้าร่วม ประทับใจและได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้มาก ผมคิดว่าการนำเอารายละเอียดของกิจกรรมนี้มาอธิบายละเอียดคงไม่เหมาะสม น่าจะเป็นลิขสิทธิ์ทางความคิดของท่านครับ ผู้สนใจน่าจะค้นอ่านได้จากงานของ อ.ณัฐฬส หรือรออ่านหนังสือของท่านครับ


ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิทยากรทั้ง ๒ ท่านครับ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านนี้ จะมีประโยชน์ต่อนิสิต ขยายผลในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา "ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้" ของสำนักศึกษาทั่วไป ต่อไป



ท่านอาจารย์ที่เข้าร่วมสามารถดาวน์โหลดรูปทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"