เจตคติ กับ เจตสิก (คิดเรื่องหลักการในการวัดคุณธรรมแบบพุทธ)

"เจตคติ" เป็นคำที่สำนักราชบัณฑิตฯ นิยามขึ้นเพื่อแปลคำว่า "attitude"  รากศัพท์ของคำว่า "เจตคติ" คือ คำภาษาบาลีว่า "เจตนา" ซึ่งเป็นเพียง ๑ ใน ๕๒ "เจตสิก" และคำว่า "คติ" (อ่านละเอียดที่นี่)   

องค์ความรู้เรื่อง "เจตสิก"  (เจตคติตามแนวพุทธ)

องค์ความรู้เกี่ยวกับคำว่า "เจตสิก" มีอธิบายไว้ในพระอภิธรรม ตำราคำสอนในพระพุทธศาสนา  สรุปสั้นที่สุดได้ดังนี้ (หากต้องการอ่านเอง คลิกที่นี่ ที่นี่ และที่นี่ เขียนได้ดีมาก)
  • คน ประกอบด้วย กาย จิต และ เจตสิก 
  • จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้คือทุกสิ่งที่ถูกรู้) ทำหน้าที่ รู้ ระลึก คิด 
  • เจตสิก คือ ธรรมชาติที่เกิดประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปต่าง ๆ อาการที่ประกอบจิต  
  • เจตสิก มีลักษณะเฉพาะตน ๔ ประการ ได้แก่
    • เกิดพร้อมจิต
    • ดับพร้อมจิต
    • อารมณ์เดียวกับจิต
    • อาศัยวัตถุเดียวกันกับจิต 
  • ดังนั้น จิตจึงเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะ เจตสิกต้องอาศัยจิตเสมอ 
  • เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ชนิด แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ 
    • เจตสิกที่เกิดประกอบกับจิตทั่วไป จิตดวงใดก็ได้ ทั้งกุศล อกุศล และอภยะกฤตหรือจิตที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล 
    • เจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศล  หรือ ฝ่ายดี หรือ ฝ่ายบุญ
    • เจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศล หรือ ฝ่ายไม่ไดี หรือ ฝ่ายบาป 
ผู้สนใจโปรดคลิกศึกษาดูเองตามลิงค์ที่ผมให้ไว้ หรือจะสืบค้นเองก็ไม่ใช่เรื่องยากใด ๆ ครับ  ผมสรุปโดยพยายามตัดภาษาบาลีออก เหลือไว้จะเฉพาะความหมายที่ตนเข้าใจไว้  (ผิดถูกอย่างไร เชิญอภิปรายต่อไปเถิด) ดังภาพด้านล่าง 


หลักการวัดคุณธรรม

จากการศึกษาองค์ความรู้เรื่องจิต เจตสิก สรุปได้ว่า  
  • คุณธรรม คือ การกระทำของกายและใจ  
  • ทุกครั้งที่กายใจทำงาน ก็คือ จิตทำงาน โดยเฉพาะ ตอนที่มี เจตนา หรือก็คือเกี่ยวข้องกับ "เจตคติด" 
  • ทุกครั้งที่จิตทำงาน จะประกอบกับ เจตสิก ซึ่งก็คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง เป็นอาการต่าง ๆ  ซึ่งนำมาสู่พฤติกรรมของคน 
  • ดังนั้น  ถ้าจะวัดคุณธรรม  เราจึงสามารถนำเอาองค์ความรู้เรื่องเจตสิก มาสร้างเครื่องมือวัดได้  
  • นั่นคือ ทุกคำถาม แบบสอบถาม หรือการสังเกต เพื่อจะประเมินคุณธรรม ควรจะกระทำโดยตั้งอยู่บนเกณฑ์จากเจตสิก 
หากคำนึงถึงคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้
  • ถ้าต้องการรู้ว่า ใครเป็นผู้มีผิวพรรณดีหรือไม่ (รูปร่างดี-รูปร่างไม่ดี สวย-ไม่สวย หล่อ-ไม่หล่อ งาม-ไม่งาม) จะต้องพบเจอ พบเห็นด้วยตา  ... (ในทำนองเดียวกัน รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหล่านี้ต้องวัดโดยการ "สัมผัส" ทาง ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย)
  • ถ้าต้องการจะรู้ว่า ใครเป็นผู้มีปัญญาดีหรือไม่ จะต้องสนทนาด้วย ... (คือจะต้องได้พูดคุย ถาม-ตอบ อภิปราย ได้ฟังการอธิบาย สังเกตความคิดความอ่านผ่านการสนทนา)
  • ถ้าต้องการจะรู้ว่า ใครเป็นคนดีหรือไม่ดี จะต้องอยู่ร่วมกัน... (คือคบ ค้า หรือสมาคมกัน อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นญาติกัน ทำงานร่วมกัน ฯลฯ)
แสดงว่า
  • คุณธรรม จริยธรรม เป็นเรื่องภายใน เกิดขึ้นภายในด้วยจิตใจเป็นใหญ่ ... แสดงออกทางกายหรือพฤติกรรมผ่านการคิด ผ่านกระบวนการทำงานของสมอง 
  • เราควรแยกการวัดคุณธรรมจริยธรรม ออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
    • การวัดเหตุผลทางจริยธรรม คือ วัดจากความคิด สังเกตจากการตอบคำถาม  การสร้างเครื่องมือคือการสร้างคำถาม สมมติสถานการณ์ขึ้นให้คิดตอบ ...  (ปัญหาคือ ความคิด กับการกระทำจริง ๆ อาจไม่เหมือนกัน)
    • การวัดคุณธรรมจริยธรรมจากการกระทำ  คือ  วัดจากการสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเผชิญกับสถานการณ์จริง ๆ  
  • ถ้าจะรู้ว่าบุคคลเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ สามารถสังเกตได้จาก ๓ แบบเท่านั้น ได้แก่
    • สังเกตตนเอง .... หมายถึง การวัดคุณธรรมจริยธรรมของตนเอง ด้วยการ สังเกตตนเอง ...  ชาวพุทธเรียกว่า การเจริญสติ ดูกาย ดูใจ หรือเรียกทั่วไปว่า "ดูจิต" 
    • สังเกตจากผู้ที่เคยอยู่ร่วมด้วย ... อาจใช้การสอบถาม หรือ การสัมภาษณ์ 
    • สังเกตจากพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออก ...ผู้สังเกตอาจเป็นใครก็ได้ เป็นนักวิจัย เครื่องมือที่ใช้อาจเป็นแบบสังเกต แบบสอบถาม หรือแบบทดสอบ  โดยอาจสังเกตจากหลักฐานต่างๆ ประกอบ เช่น ผลงาน ชิ้นงาน หรือร่องรอยต่าง ๆ
ต่อไปเราจะนำแนวคิดนี้ไปสร้างเครื่องมือวัดครับ .... (ขอจบเท่านี้ )

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"