PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

วันที่ ๒๐ และ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ CADL ไปช่วยครูตุ๋มขยายผลกระบวนการ ๖ ขั้นและจิตอาสาพัฒนาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สำหรับนักเรียนพิการบกพร่องด้านการเรียนเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเพื่อนครูจากโรงเรียนในเขตพื้นที่ สพป.มค.๑ กว่า ๑๒๐ ท่าน ณ ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนอนุบาลมหาสารคาม

ผมเขียนบันทึกนี้ย้อนหลังเกือบ ๓ เดือน แต่ยังจำได้แม่นยำว่า ภาพด้านล่าง คือคำตอบของครูเมื่อเราถามถึงความเข้าใจและความมั่นใจว่าจะนำกระบวนการ ๖ ขั้นและใช้เด็กจิตอาสาไปปรับใช้กับตนเอง โดยให้แสดงระดับความเข้าใจและมั่นใจ ๕ ระดับ ด้วยการชูนิ้ว  ปรากฎผลดังรูปด้านล่าง


ผมตีความว่า ภาพนี้สะท้อนความสำเร็จของการหลักสูตรการอบรมพอสมควร (ความจริงอาจเพราะเป็นคนไทยจิตใจดี รักษาน้ำใจทีมวิทยากร...ฮา) คุณครูเกือบทั้งหมดยกมือ ๕ นิ้ว  ... เรากำลังจะจัดเวทีอบรมครูพี่เลี้ยงซึ่งทำงานอยู่คู่คุณครูจากทุกโรงเรียน ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้  วันนั้นเราจะได้รู้ว่า น้องหนูนักเรียน LD มีพัฒนาการด้านการอ่านเขียนแค่ไหน

เราถอดบทเรียนครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ไว้มากมายหลายที่ (คลิกที่นี่) บันทึกนี้ขอสรุปเป็นหลักปฏิบัติ โดยใช้ทฤษฎี "ภูเขาน้ำแข็ง" ดังภาพ เพื่อเน้นย้ำว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของครูตุ๋ม ไม่ใช่เพียง "กระบวนการ ๖ ขั้น" เท่านั้น  แต่เป็นความรักความใส่ใจ ความเมตตา หรือที่เราเรียกกันว่า "ครูรักเด็ก" นั่นเอง



ผมตีความว่า การพัฒนานักเรียนของครูศิริลักษณะ แบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ๑) ปรับพฤติกรรมด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ๒) พัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ และ ๓) พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยท่านจะทำไปทีละระยะอย่างต่อเนื่อง ดังจะสรุปหลักการสำคัญในแต่ละระยะ ดังนี้

๑) ปรับพฤติกรรมด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงบวก 

หากเข้าใจทฤษฎี "ภูเขาน้ำแข็ง" (อ่านได้ที่นี่) การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่ได้เริ่มที่ให้เขาฝึกอ่านฝึกเขียน แต่ต้องไปเริ่มต้นที่การปรับพฤติกรรมและทัศนคติต่อการอ่านการเขียน การมาโรงเรียน และความชอบและศรัทธาในการเรียนหนังสือของนักเรียนเสียก่อน

  • ใช้ภาษาถิ่น ครูตุ๋มจะเน้นใช้ภาษาท้องถิ่น ใช้ภาษาอีสาน ผมตีความว่านี่เป็นภาษาของเด็ก หมายถึงใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจง่ายและคุ้นเคย เป็นภาษาของแม่ แม่ที่รักลูก ห่วงลูก เมตตา ห่วงใย ใส่ใจเขาที่สุด 
  • ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ครูตุ๋มจะเน้นการชม ชมในทุกความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ  ทุกครั้งที่เขาทำได้ ครูตุ๋มจะแสดงออกให้เด็กเห็นถึงการชื่นชมอย่างจริงใจ พร้อมกับให้แรงบันดาลใจและชี้แนะว่าให้ทำต่อไปหรือบอกก้าวเดินต่อไป และให้รางวัลต่อความพยายามอย่างเหมาะสม ... ไม่ด่าเด็ดขาด ไม่พูดกระทบใด ๆ ไม่พูดลับหลัง คือท่านจะระวังไม่พูดสิ่งใด ๆ หรือกระทำสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าทำไม่ได้เลย ... 
  • ไม่สร้างภาระสมอง  ในระยะแรกและระยะที่สอง ครูตุ๋มจะเน้นเรื่องนี้มาก ๆ  ทุกอย่างจะให้ทำจากง่ายไปยาก ... ผมตีความว่า เมื่อเด็กสามารถทำได้ จึงชอบที่จะมาร่วม มาทำกิจกรรมกับครูตุ๋มและพี่จิตออาสา และเมื่อทำได้บ่อย ๆ จึงเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อทำได้อย่างต่อเนื่องจึงก่อความมั่นใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติและลักษณะนิสัยในที่สุด 
ครูตุ๋มเล่าตัวอย่างของ "เด็กแฝดนรก" จากเดิมที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เอาอะไร ไม่ฟังคำสั่งใคร ไม่เข้าเรียน ถูกด่าจาก "ครูอาชีพ" จนเสียสูญ พ่อแม่ก็ท้อแท้หมดหวังแล้ว การใช้กระบวนการปฏิสัมพันธ์เชิงบวก 

๒) ใช้กระบวนการ ๖ ขั้นและพี่จิตอาสาพัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ 


เมื่อนักเรียนมีใจ รักจะเรียน เปิดใจ จึงเกิดตั้งใจ  ผมตีความว่า หลังจากผ่านระยะปรับพฤติกรรม จากที่ "ครูรักเด็ก" น่าจะเริ่มเกิด "เด็กรักครู" ขึ้นจริง และนี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จของครูตุ๋ม

ในขั้นตอนนี้ การใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกยังคงเข้มข้นเช่นเดิม และเพิ่มเติมความแยบคายมากขึ้น โดยกฎ ๓ ประการ (ผมถอดความจากการสังเกต) ได้แก่
  • ใช้เหตุการณ์จริงและใกล้ตัวเด็กเสมอ  จะอธิบายอะไร จะยกตัวอย่างอะไร จะใช้ตัวอย่างที่เป็นจริงเสมอ เช่น หากนักเรียนเขียนไม่สวย ก็จะบอกว่า "...ตัวหนังสือมันป่วย ต้องพามันไปหาหมอ พาไปกินข้าว..."  หรือกรณีเด็กเขียนและลบหลายครั้งจนตัวหนังสือดำสกปรก ครูตุ๋มจะบอกว่า "... ตัวหนังสือมันไม่ได้อาบน้ำ ต้องพามันไปอาบน้ำ ทาแป้งสวย ๆ นะลูก ..." ฯลฯ 
  • ช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่า "ทำได้ทันที" นักเรียนจิตอาสาที่นั่งประกบน้องตัวต่อตัว เมื่อไหร่ที่น้องมีปัญหาหรือทำผิด พี่จิตอาสาก็จะสอนน้องและแก้ไขแนะนำทันที ผมตีความว่า นี่คือ "ซุปเปอร์โค้ช"  น้องจะรู้สึกว่าฉันทำได้ทันที (ตรงกับทฤษฎี ๓ท. ทำทันที ของแม่อิ๋ว ผอ.ธนิตา) และการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดแบบนี้ นักวิจัยยืนยันแล้วว่าได้ผลดีกว่าเรียนรู้จากการทำตาม) 
  • เติมความรู้ใหม่ด้วยการถามและสร้างเงื่อนไข  เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน กับใคร เมื่อไหร่? ฯลฯ ให้แต่งประโยคที่ไม่เหมือนเดิม ต่างกิจกรรม ต่างสถานที่ไป ฯลฯ 
ต่อไปนี้เป็นภาพสรุปกระบวนการ ๖ ขั้น ของครูตุ๋ม (ที่วาดโดย อ.หมิ๋ม) นำมาวางไว้ตรงนี้อีกที 









๓) พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑

ผมติดตามงานของครูตุ๋มอยู่ไม่ขาด ทางเฟสบุ๊ค (ศิริลักษณ์ ชมภูคำ)  นักเรียนแกนนำจิตอาสาพัฒนาไปไกลมายยิ่งแล้ว มีการจัดการเรียนการสอนตามแนวทาง ๓PBL (อ่านได้ที่นี่) อย่างต่อเนื่อง  ก่อเป็นกิจกรรมใหม่ ๆ ดังภาพ



อยากให้คุณครูที่อ่านมาถึงตรงนี้ลองติดต่อครูตุ๋มดู การคุยหรือติดตามงานของครูตุ๋ม น่าจะทำให้ได้เทคนิคและความมั่นใจในสนามการต่อสู้เพื่ออนาคตของเด็ก ๆ ต่อไปครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"