mini-UKM#20 @NPU (1): Good Practice กับ Best Practice

สามวันนี้มีการจัดงาน mini-UKM ครั้งที่ ๒๐ ที่ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ผมอาสามาร่วมโดยร่วมทางมากับทีมประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย ตั้งใจจะเอา Good Practice (GP) ที่เราได้ถอดบทเรียนไว้ มาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอนมหาวิทยาลัยอื่น เพื่อประโยชน์ต่อไป

การออกแบบกิจกรรม mini-UKM ครั้งนี้คล้ายกระบวนการปีที่แล้ว ยังกำหนดที่ ๔ ประเด็นแลกเปลี่ยน แต่มีการเพิ่มกิจกรรมในช่วงบ่ายของวันแรกเพื่อเน้นให้ผู้มาร่วมรู้จัก KM รู้จักลักษณะและวิธีการค้นหา Best Pracetice (BP) ก่อนจะเปิดงานในวันที่สองและค้นหา BP ต่อไป

GP และ BP ต่างกันอย่างไร 



ศาสตราจารย์ นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร เน้นย้ำให้เห็นความตกต่างระหว่าง GP และ BP ผมจับความได้ดังต่อไปนี้ครับ

ท่านเริ่มด้วยการให้สมาชิกทุกท่านเขียนตอบคำถาม ๔ คำถาม ต่อไปนี้ ลงในกระดาษ A4
  • Best Practice คืออะไร
  • ทำไมต้องค้นหา Best Practice
  • ท่านจะค้นหาประเด็น Best Practice เรื่องใด
  • การค้นหา BP ทำได้อย่างไร 
ท่านบรรยายสรุปเฉลย ผมจับใจความได้ว่า 
  • BP คือแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ...  เน้นย้ำคำว่า "ดีที่สุด"  ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ได้ผลจากบุคคลคนเดียว   BP ต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่างได้แก่ 
    • เป็น GP คือ แนวปฏิบัติที่ได้ผลของบุคคลผู้ปฏิบัติ 
    • เป็น GP ที่เกิดจากกระบวนการจัดการความรู้ หรือ KM
    • เป็น GP ที่ดีที่สุดที่ผ่านการ Benchmark เปรียบเทียบกับ GP ในประเด็นเป้าหมายหัวปลาเดียวกัน 
  • เหตุที่ต้องค้นหา BP เพราะนั่นเป็นวิธีที่จะพัฒนางานให้ประสบผลสำเร็จที่สุด 
  • ต้องค้นหา BP เรื่องใด ... อันนี้ท่านไม่ได้เฉลย ... ผมตอบว่า ต้องค้นหา BP ในเรื่องที่ตนเองประสบผลสำเร็จที่สุด ภูมิใจที่สุด นั่นเอง 
  • การค้นหา BP จะต้องทำอย่างไร .... ก็ต้องทำ ๓ ขั้นต่อไปนี้ 
    • ลงมือทำงานด้วยวิจารณญาณและการปฏิบัติที่แยบยล จนประสบผลสำเร็จจนเกิดความภาคภูมิใจ เกิดผลประจักษ์ต่อตนเองและคนอื่น 
    • จัดการความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองและคนที่เกี่ยวข้อง หรือของทีมงานหรือองค์กร จะได้ GP 
    • นำ GP ไปนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติอื่น ๆ  ที่มีเป้าหมายและประเด็นเดียวกัน แล้วร่วมกันเปรียบเทียบว่า วิธีใด GP อันไหนที่ให้ผลดีที่สุด ...  GP นั้น ก็คือ BP 
ผมวาดรูปด้านล่างเพื่อสรุปความคิดรวบยอด (Conceptographic) เกี่ยวกับเรื่องนี้ 


ศ.นพ.วุฒิชัย เน้นว่า เราไม่สามารถจะ Benchmark ข้ามประเด็นกันได้  เป็นเช่นนั้นจริง ๆ  ครับ ในกลุ่มย่อยที่ผมเป็นสมาชิก มี GP ที่ไม่อาจจะ Benchmark ได้จริง ๆ  



แลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อย 

ขอบันทึกไว้ในความทรงจำ ประสบการณ์ GP ที่แต่ละท่านนำมาแบ่งปันไว้ในกลุ่ม ดังนี้ จากซ้าย ไปขวา 
  • ท่านที่ ๑ อาจารย์หนุ่มสุดหล่อ  ปรับวิธีการสอนของท่าน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สร้างความสนใจให้นักศึกษายุคใหม่อย่างได้ผล  เช่น แอฟพลิเคชั่น Zipgrade, Kahoot, Plicker, ฯลฯ  
  • ท่านที่ ๓ มี GP ที่นำเอา "การมีส่วนร่วม" มาใช้พัฒนางานในกองส่งเสริมการบริการ จนงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุขสามัคคีกัน 
  • ท่านที่ ๔ มีความสำเร็จกับ GP ที่ต้องใช้ความเสียสละ ทำงานหนัก รับภาระของเพื่อนอาจารย์  ทั้งประสานงานและทำงานเหมือนที่ปรึกษากับทั้งนักศึกษา ผู้ปกครอง จนหลักสูตรที่ท่านทำหน้าที่เป็นประธาน ผ่านวิกฤตที่ต้องปิดไป  จากนักศึกษาที่หล่น หลุดหาย เป็นคงจำนวนอยู่ได้ และเพิ่มจำนวนได้ทุก ๆ  ปี 
  • ท่านที่ ๕ มีชื่อเสียงในกลุ่มเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ว่า ประสบความสำเร็จเรื่องการเจรจาต่อรอง หากเมื่อใดจะมีการเจรจาต่อรอง ต้องให้ท่านเป็นตัวแทน  จะชนะเสมอ  ท่านให้เคล็ดลับเป็นหลักการ ๓ ประการ ได้แก่  
    • รู้เขา รู้เรา  คือ ต้องรู้ว่า อะไรมีค่าสำหรับเรา สำหรับเขา อะไรมีคุณค่ามากน้อยเท่าไหร่ในมุมองเขาและของเรา 
    • ทั้งสองฝ่ายต้องได้ประโยชน์ คือ WIN WIN 
    • ต้องมั่นใจเสมอ  มั่นใจว่าฉันทำได้
  • ท่านที่ ๖ มี GP ในการเปลี่ยนเจตคติของนักศึกษาพยาบาล ที่ร้อยละ ๙๐ ตั้งใจมาเรียนเพราะด้วยความแค่ว่าจะไม่ตกงาน  ท่านใช้วิธีการสอนผ่านการทำงานจริง และให้สะท้อนการเรียนรู้ แล้ว Coaching ด้วยคำถามตอบและสนทนา กับนักศึกษารายบุคคล จนปรับเปลี่ยนเจตคติได้จำนวนหลาย ๆ คน 
  • ท่านที่ ๗ คนขวาสุด  มี GP ของความเพียร  จากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้างานด้านที่ตนเองไม่ได้เรียนมา ไม่มีความชำนาญ  อาจารย์เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง จนผ่านปีไป สามารถสอนงานให้เจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด  จนได้รับการยอมรับ  
เนื่องจาก ศ.นพ.วุฒิชัย ท่านบอกว่า แลกเปลี่ยนวันนี้ เพื่อให้ทุกคนเห็นกระบวนการค้นหา BP ร่วมกัน ผมจึงยังไม่ได้แบ่งปันเรื่องการสอนแบบครูเมืออาชีพที่เตรียมมา  หยิบเอาเรื่องการบูรณาการการปฏิบัติธรรมกับการทำงาน  แลกเปลี่ยนเรื่องการฝึก "ดูจิต" ตามแนวทางหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช  ด้วยหวังว่าสิ่งที่ดี ๆ นี้จะส่งต่อไปให้ผู้อื่นได้ลองฝึกต่อไป 

การบูรณาการงานกับการปฏิบัติธรรม 

ผมเริ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตน ด้วยประโยคป้องกันตนเอง  ทำนองว่า   จริง ๆ ผมก็ยังฝึกฝนไปไม่ถึงไหน แต่เห็นว่าสิ่งนี้ดีและมั่นใจว่ามาถูกทาง จึงอยากจะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นแนวทางสำหรับท่านที่สนใจ ทดลองดู 
  • คนเรา ประกอบด้วย  กาย จิต และ เจตสิก  
  • จิตทำหน้าที่ "รู้" และ "คิด"  
  • เจตสิก คือสิ่งที่เกิดประกอบกับจิต เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ อารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตรู้ได้ 
  • สิ่งที่เราฝึกคือการ "ดูจิต" คือ การรู้กาย รู้ใจ ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง  
  • คือดูสภาวะธรรม หรืออารมณ์ที่เกิดกับจิตของตนเอง ระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น 
    • ความโกรธเกิดขึ้น รู้ว่าโกรธ   ความอิจฉาเกิด รู้ว่าอิจฉา  ความอยากได้เกิดขึ้น รู้ว่าอยากได้ ความอยากพูดเกิดขึ้น รู้ว่าอยากพูด ฯลฯ 
    • ฯลฯ  
  • ดูว่า ใจชอบ หรือ ไม่ชอบ สภาวะธรรมนั้น  
  • เป้าหมายคือ การดูให้เห็นการเกิดดับของสภาวะธรรม  (ดูเพื่อเห็นไตรลักษณ์ วิปัสนา)
ความยากของการ "ดูจิต" สำหรับผม นอกจากความฟุ้งซ่านแล้ว คือ การเข้าไปแทรกแซงจิต โดยใช้การคิดบวกหรือกดข่มใจให้ดูดี เป็นคนดี  ... อย่างไรก็ดี ถึงวันนี้ ผมเองก็ประจักษ์ถึงผลดีของการพัฒนาจิตใจตนเองในระดับหนึ่ง มั่นใจว่านี่ล่ะแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาจิตใจตนเอง  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"