โรงเรียนบ้านปะทายโมเดล จ.ศรีสะเกษ (๒) ... กระบวนการนิทานพัฒนาการคิด

บันทึกที่ (๑)

ความสำเร็จที่ยั่งยืนด้านการศึกษา ต้องมาจากการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตัวตนของครู (Transformative Learning) คือต้องระเบิดจากภายในถึงระดับเห็นคุณค่า เกิดแรงปรารถนาอันบริสุทธ์ต่อเด็ก (ตามทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง อ่านที่นี่)  ... ดังที่ ผอ.สมศักดิ์และคุณครูเพื่อศิษย์ที่โรงเรียนบ้านปะทายได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว

คุณค่าของงานการถอดบทเรียนที่โรงเรียนบ้านปะทาย เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา น่าจะมีอย่างน้อย ๒ ประการ  ๑) คือช่วยให้คุณครูแต่ละท่านได้เห็นกระบวนการสอนเด็กของตนเอง เห็นขั้นตอนของสิ่งที่เราทำอยู่ตรงหน้าทุกวัน และที่สำคัญคือข้อ ๒) บทเรียน (ในที่นี้คือแนวปฏิบัติในการสอน) ที่ถอดมานั้น ถูกแบ่งปันไปสู่เพื่อนครูเพื่อศิษย์ในระดับเดียวกัน ... ขออนุโมทนาบุญกับท่านผอ.สมศักด์และคุณครูทุกท่านครับ ที่แบ่งปันองค์ความรู้เป็นวิทยาทานโดยไม่หวงเลยแม้แต่น้อย...

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูในรายวิชาหลัก (ภาษาไทย คณิต ภาษาอังกฤษ) ที่ผมได้เรียนรู้จากคุณครู  ผู้ที่จะอธิบายให้รายละเอียดการปฏิบัติได้ดีที่สุดคงต้องเป็นคุณคครูผู้เขียนโมเดลเหล่านี้ขึ้น  ดังนั้น หากท่านผู้อ่านสนใจโปรดติดต่อไปที่โรงเรียนนะครับ















ผมจับหลักการสำคัญของทุกท่านที่คล้ายกันได้ดังนี้ครับ

  • เริ่มต้นด้วยการเล่านิทาน สิ่งสำคัญที่ครูโรงเรียนบ้านปะทายใช้คือ "เรื่องเล่า และ เล่าเรื่อง" โดยเฉพาะการเล่านิทาน คุณครูทุกคนจะเริ่มด้วยนิทานจากวรรณกรรมดี ๆ มีชื่อเสียงต่าง ๆ  ... ผมตีความว่า การเล่านิทานเหมาะสมมากกับการพัฒนาการศึกษาของไทย เพราะวัฒนธรรมของคนไทยชอบ พูด-ฟัง มากกว่า อ่าน-เขียน  จึงไม่เป็นภาระสมองหรือภาระของใจเกินไป เด็กจึงชอบวิธีนี้ 
  • ขั้นต่อมา ถาม-ตอบ สุนทรียสนทนา ให้เกิดศรัทธาและเข้าใจ  ครูที่นี่ทุกท่านจะเก่งเรื่องตั้งคำถามกับเด็ก ๆ เบื้องต้นคือถามเพื่อทบทวนเรื่องเล่าให้เข้าใจทุกคน เข้าใจนำมาสู่ความสนุก สุข และศรัทธาต่อครู  เราเรียกการชวนคุยที่มีคุณภาพแบบนี้ว่า สุนทรียสนทนา (Dialouge) ... ผมตีความว่า การประวิงเวลาให้นานพอ สำคัญต่อการทำความเข้าใจของเด็กนักเรียนทั้งห้อง ซึ่งมีทักษะการเรียนรู้ต่างกัน  วิธีการถามตอบและเล่าเรื่องทวนซ้ำย้ำตรงที่ถาม  คือกระบวนการเก็บเด็กอ่อนที่ไม่ย้อนไปทำให้ทำร้ายเด็กเก่ง เพราะเด็กเก่งจะตอบและเป็นผู้เล่าเรื่อง...นี่คือการฝึกคิดเบื้องต้นในโมเดล 3PBL (อ่านที่นี่)
  • ขั้นตอนการสร้างชิ้นงาน ลงมือปฏิบัติ ทำงาน ด้วยตนเอง กระบวนการขั้นนี้สำหรับเด็กปฐมวัย ส่วนใหญ่โรงเรียนบ้านปะทายท่านใช้การให้นักเรียนวาดภาพระบายสี ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ผ่านการพิสูจน์และทดลองมากมายจนกลายมาเป็นทฤษฎี BBL ที่ครูประเทศนี้รู้จักทุกคน ในระดับประถม ครูแต่ละท่านจะออกแบบกิจกรรม Active Learning ที่แตกต่างหลากหลาย ... ผมตีความว่า นี่คือหัวใจของการเรียนรู้ คือ ผู้เรียนจะต้องได้ลงมือคิดและทำอะไรด้วยตนเอง
  • ขั้นสรุปความรู้เดิมแล้วเติมความรู้ใหม่  ครูจะพาเด็กสรุปการเรียนรู้ของตนเอง ผมพบว่า เกือบทุกโมเดลคุณครูจะยังไม่เข้าไปเพิ่มเติมความรู้ใหม่อะไรมากนักก่อนจะถึงขั้นตอนนี้  ครูจะให้เด็ก ๆ เอาผลงานหรือชิ้นงานของตนมาเสนอ แล้วตั้งถามให้เปรียบเทียบและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จากนั้นคุณครูถึงจะเพิ่มเติมความรู้ใหม่เข้าไป เช่น ให้สะกดคำ ให้เขียนตาม สอนวิธีคิดเลขใหม่ ฯลฯ โดยใช้การเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของเด็กๆ  ... ผมตีความว่า กระบวนการ ๓ ขั้นตอนก่อนหน้านี้ คือวิธีเปิดใจเด็กของครู และเป็นวิธีที่ครูใช้เรียนรู้ความรู้เดิมของเด็ก  วิธีการสอดคล้องกับทฤษฎีการงอกใหม่ของความรู้ ... นี่น่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งของครูโรงเรียนบ้านปะทาย
  • ขั้นสุดท้าย จบด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ โดยใช้การชม ชื่นชม และเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่นักเรียนคนจะเรียนต่อไป คุณครูหลายท่านเน้นว่า ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะการสร้างความรัก ความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง คือปัจจัยให้เกิดพลังในการเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป 

ขอจบบันทึก เรียนรู้จาก โรงเรียนบ้านปะทาย ไว้แค่นี้ครับ โอกาสหน้าคงได้มีวาสนาไปอีกครับ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"