ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_32 : ตัวอย่างความกล้าหาญทางการศึกษา โรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ (๑)

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐  (วันพืชมงคล) ผมขอเข้าร่วมวง PLC ของโรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ สพป.กาฬสินธุ์ เขต ๑ ร่วมกับ ดร.นุชรัตน์ ประสิทธิศิลป์ชัย  และ อาจารย์กชกร ตุณสุวรรณ ศึกษานิเทศก์ที่เป็นทั้ง "คุณเอื้อ" และ "คุณอำนวย" (ในภาษา KM)  ตั้งใจจะไปดูว่า โรงเรียนในระบบของ สพฐ. ที่กล้าเปลี่ยนตารางสอนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเน้นการเรียนแบบโครงงานบนฐานปัญหา (Problem-based Learning, PBL) นั้น ท่านทำได้อย่างไร  ผมยังไม่เคยเห็นโรงเรียน "ทางหลัก" แห่งใดจะกล้าหาญชาญชัย ลงมือทำได้ถึงขนาดนี้ จึงไม่ลังเลที่จะแบ่งเวลาไปศึกษาถอดบทเรียนด้วยตนเอง

หลังจากฟังการแลกเปลี่ยนของครูจิตตริกา หลาวมา ครูแกนนำ เมื่อครั้งไปนำเสนอแลกเปลี่ยนในเวทีอบรม 3PBL  และเห็นตารางเรียนที่กำลังจะทดลองใช้เทอมหน้า ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบไปจากตารางสอนเดิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  ผมสงสัยใน ๒ ประเด็น ๑ คือ ตารางเรียนนี้ออกมาจากความคิดของใครกี่คนหรือเป็นผลจาก PLC ในโรงเรียน และ ๒ ถ้าเป็นผลจาก PLC ในโรงเรียนจริง ท่านเริ่มอย่างไร อะไรเป็นจุดเปลี่ยน และจัดตารางเรียนกันอย่างไร  ... ผมได้คำตอบของทั้งสองข้อนี้อย่างชัดเจน เสียดายที่ผมไม่มีไฟล์ภาพของตารางเรียนที่กล่าวถึงนี้มาแบ่งปัน  อย่างไรหากท่านสนใจ สามารถติดต่อไปที่โรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ หรือจะให้ดีไปดูไปคุยให้ถึงที่ไปเลยครับ 

๑) ความกล้าหาญด้านการศึกษา

ผมเคยไปศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถึง ๔ ครั้ง การจัดการเรียนรู้และตารางเรียนที่แตกต่างจากทั่วไป (ดูจากบันทึกนี้ได้ครับ) ทำให้เป็นไปได้ยากยิ่งที่โรงเรียน "ในรูปแบบ" จะเอาทำตามแบบนั้นได้ ดังนั้น การมาปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของโรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ครั้งนี้ ผมพบแล้ว ... นี่แหละคือตัวอย่างของความกล้าหาญด้านการศึกษา ...  

ความกล้าหาญด้านการศึกษาของดงพยุงฯ  ค่อย ๆ ก่อตัวจากการหนุนเสริมจากศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ พาตัวแทนครูโรงเรียนละ ๑ คน ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนบ้านประทาย ตัวแทนของดงพยุงฯ คือครูอิ๋ว (จิตตริกา หลาวมา)  ต่อมา ศน. เป็น "คุณเอื้อ" จัดเวทีให้ตัวแทนครูโรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนละ ๒ คน ได้ไปเรียนรู้ร่วมกัน ณ โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ... ครูอิ๋วเริ่ม "เชื่อ" มากขึ้น  

ครั้งที่สาม ศน. เป็น "คุณเอื้อ" ให้โอกาสตัวแทนครูไปศึกษาที่โรงเรียนบ้านประทายอีกครั้งโดยให้ ผอ. ไปด้วย คราวนี้ ผอ. เป็น "คุณเอื้อ" (อ่านบันทึก ดร.นุชรัตน์ ที่นี่ครับ) ครั้งที่สี่ ผอ. ตัดสินใจพาครูทุกคนไปเรียนรู้ดูงานที่โรงเรียนบ้านประทาย  ผมคิดว่าครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแบบ Whole School ของโรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ 

ต่อมา ศน. ได้กำลังจาก Actionaid Thailand เข้ามาหนุนช่วยจัดเวที ณ สวนดอนธรรม จ.กาฬสินธุ์  ในวันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๖๐ (ได้ "คุณเอื้อ" มืออาชีพ) คราวนี้เป็นครูทุกคนในโรงเรียน ทั้งหมด ๒๐ โรงเรียน  ซึ่งต่อมา ถูกเรียกกันเองในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "โรงเรียนเครือข่าย" และในวันเวลาติด ๆ กัน วันที่ ๔-๕  ศน. เป็น "คุณเอื้อ" ให้จัดเวทีปฏิบัติการแบบต่อเนื่องเพื่อร่วมกันออกแบบหน่วยการเรียนแบบ PBL (อ่านบันทึก ดร.นุชรัตน์ ที่นี่) ... ถึงตรงนี้ครูทั้งหมดในโรงเรียนก็ลุกขึ้นเดินไปพร้อม ๆ กันแล้ว 

ครูอิ๋วเล่าว่า เมื่อเริ่มออกแบบการหน่วยการเรียนรู้แบบ PBL มีปัญหาความไม่เข้าใจและไม่มั่นใจหลายอย่าง  ผอ. ขับเคลื่อน+แก้ปัญหาด้วยการเชิญ "ครูแจง" และทีมครูผู้ทำสำเร็จมาก่อนจากโรงเรียนบ้านประทายมาช่วยดูหน่วยการเรียนรู้และจัดตารางเรียนและรูปแบบวิถีครู ... ก่อนจะถึงวันลุยงาน ครูโรงเรียนดงพยุงฯ ทำ PLC มากกว่า ๑๐ ครั้ง 

เข้าใจว่า ครูอิ๋วคือกลจักรสำคัญของการเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้โดยมี ผอ.ที่ "ใช่" คือกล้าตัดสินใจและให้มอบพลังภายในให้เพียงพอ  และสำคัญคือมี ศน. คือ ดร.นุชรัตน์ และ อ.กชกร เป็นผู้จุดประกายแสงนี้ ... มีเพื่อนครูท่านหนึ่งบอกว่า ครูอิ๋วมีความมุ่งมั่นและทำงานหนักมาก แต่ครูอิ๋วบอกบ่อยมาก ๆ ครับระหว่างนำเสนอว่า เป็นเพราะมีเพื่อนครูและผอ. อีกท่านหนึ่งบอกว่า เป็นเพราะผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคนจึงกล้าเปลี่ยนกล้าลุย 

สรุปผมได้คำตอบแล้วครับ ตารางเรียนที่ผมเห็นไม่ได้เป็นเพียงความคิดของใครคนหนึ่ง แต่เป็นผลของการ "PLC ดงพยุง" และการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่ง่ายเลย  ยิ่งเมื่อลงมือทำยิ่งจะต้องอดทนฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะตามมา ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนครับ หากทำสำเร็จ จะถือเป็นโรงเรียนแรกในเขตพื้นที่ระแวกนี้ ที่สามารถเปลี่ยนผ่านการศึกษาไปสู่การศึกษายุคใหม่สำหรับคนในศตวรรษที่ ๒๑ เสียที  





ครูอิ๋วเล่าเรื่องความเป็นมาของตารางสอนแบบใหม่ของโรงเรียนดงพยุงสงเคราห์

ในภาพนี้ ไม่ใช่ครูนะครับ ส่วนใหญ่เป็นแขกผู้ใหญ่จาก Actionaid Thailand ท่านที่ ๒-๔ น้ำจากซ้าย  ส่วนเสื้อฟ้า คือท่านประธานสภาการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ 


ครูเอ๋ (ขออภัยหากจำชื่อท่านผิดนะครับ)  ท่านพูดเก่ง จับประเด็นเก่ง  พิธีการก็เนี๊ยบ  เรื่องกระบวนการต้องให้ท่านเป็นกระบวนกรครับ


เห็นตารางสอนแบบ 4Q ในโรงเรียนทางหลักแบบนี้ ท่านครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง คงมีความสุขครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"