CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _๑๗: รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "งานมหกรรมนำเสนอฯ "ธุรกิจพอเพียง" (๓)

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ ผ่านไปแล้วครับ สำหรับงานมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  แม้ว่าหลายอย่างจะไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกประการ (ดูบันทึกเกี่ยวกับกำหนดการ ที่นี่) แต่ผม AAR ว่า เราบรรลุวัตถุประสงค์ (ดูบันทึกเกี่ยวกับความคาดหวัง BAR ที่นี่)

ผมตั้งใจจะถอดบทเรียนทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ที่ได้เรียนรู้จากท่านวิทยากร คุณศศิพร ปาณิกบุตร ผู้อำนวยการกองติดตามประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คุณสำราญ ช่วยจำแนก (อี๊ด วงฟลาย) และ คุณกวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร (พี่หยวนจากละคร เฮง เฮง) ศิลปินจิตอาสา  รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ  คุณพีรวัศ กี่ศิริ นักขับเคลื่อน "ธุรกิจพอเพียง" สู่ภาคการศึกษา รวมถึงศิลปินนิสิตจิตอาสาต่าง ๆ ที่มาร่วมงาน

คำกล่าวต้อนรับ

ผมเองไม่ชอบพิธีการและมักพยายามหลบเลี่ยงพิธีกรรมให้มากที่สุดในการทำงาน แต่หลังจากได้เห็นการทำงานของนิสิตครั้งนี้ ผมมีทัศนคติที่ดีต่อพิธีการมากขึ้น  โดยเฉพาะการปักดอกไม้ใกล้ปกเสื้อด้านซ้ายของแขกที่มาเยือน และการกล่าวต้อนรับ  ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวต้อนรับที่ อาจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ กล่าวในวันงาน  ...  น่าจะมีประโยชน์บ้าง จึงขอนำมาวางไว้ครับ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ)





คำกล่าวต้อนรับ
โครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง”
วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560
ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
--------------------------------------
โดย   ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต

เรียน  เรียน ผอ.ศศิพร  ปาณิกบุตร ผู้อำนวยการกองติดตามประเมินผล สำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้สืบสานงานสนองพระราชดำริ อาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ นักขับเคลื่อน “ธุรกิจพอเพียง”สู่ภาคการศึกษา คุณสำราญ ช่วยจำแนก (หรือพี่อิ๊ดวงฟลาย) และคุณกวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร (หรือพี่หยวน) ศิลปินดาราที่น้องนิสิตรู้จักกันดี
       
ดิฉัน มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ในนามผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาต้อนรับท่านในโอกาสมาเป็นวิทยากรและศิลปินจิตอาสาขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยในวันนี้

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ด้านคุณธรรม คือ การเป็นผู้ “ประพฤติดี มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง” และยกเอาคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “Sufficiency Economy” เป็นหนึ่งในค่านิยม (Value) ของมหาวิทยาลัย โดยยึดเป็นฐานสำคัญในการพัฒนานิสิตให้ตรงตามอัตลักษณ์ของนิสิตมหาวิทยาลัย คือ “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” สู่เป้าหมายของการผลิตบัณฑิตตามเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ “การเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” ต่อไป

แต่ละปีการศึกษา มหาวิทยาลัยรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปีการศึกษาละประมาณ 10,000 คน มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมให้นิสิตน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างบูรณาการ ทั้งการจัดให้มีรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเรียนปีการศึกษาละกว่า 8,000 คน  การส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตทำกิจกรรมพัฒนานิสิตโดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน และการจัดกิจกรรมจากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกหลักสูตร ดังเช่น กิจกรรมในวันนี้เป็นต้น

ความสำเร็จในวันนี้เกิดจากหลายฝ่ายทั้งจากคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มนิสิตแกนนำจิตอาสา อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป และที่สำคัญคือนิสิตผู้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปทุกคน ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงาน ทำให้งานประสบความสำเร็จด้วยดี


ในโอกาสนี้ ดิฉัน มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ในนามผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง ขอบคุณค่ะ


คำกล่าวรายงาน

ผมเพิ่ง "เห็น" ตอนนี้เองว่า คำกล่าวรายงานมีประโยชน์มาก  นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางตรงเพื่อแจ้ง วัตถุประสงค์ให้ประธานรับรู้แล้ว  เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ยังนำเอาเนื้อความในคำกล่าวรายงาน ไปเขียนข่าวได้อย่างฉับไวทันใจผู้ติดตามอีกด้วย  ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวรายงานโครงการนี้ครับ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ)




คำกล่าวรายงาน
โครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง”
วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560
ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
--------------------------------------
โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. เกียรติศักดิ์  ศรีประทีป ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป
เรียน อธิการบดี

กระผมในนามของผู้จัดโครงการขอขอบคุณท่าน  ที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง” ครั้งนี้

ตามที่สำนักศึกษาทั่วไปได้จัดการเรียนการสอนรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีนิสิตสนใจลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษากว่า 3,500 คน มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านการส่งเสริมการสร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะด้านทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ การส่งเสริมให้นิสิตสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ บริษัทเปิดใหม่ (STARTUP)  ต่อไป

โครงการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  เปิดโอกาสให้นิสิตได้นำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้จากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต

กิจกรรมในโครงการจัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณศศิพร ปาณิกบุตร ผู้อำนวยการกองติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) การกล่าวบทกวีบนเวทีจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ และการแสดงบนเวทีจากนิสิตจิตอาสา ศิลปิน ดารา นักร้อง

ส่วนที่ 2 เป็นตลาดนัดความรู้และการออกร้านนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 30 ผลงาน และรายวิชาการประกอบการและการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ จากคณะบัญชีและการจัดการ จำนวน 10 ผลงาน รวมถึงการจัดนิทรรศการการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตของนิสิต

ผู้ร่วมงานในวันนี้ประกอบด้วยนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 3,500 คน จัดเป็นนิสิตผู้นำเสนอผลงานประมาณ 500 คน ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประจำผลงานหรือนิทรรศการตลอดงาน  นิสิตผู้เข้าชมผลงานฯ ประมาณ 1,500 คน และนิสิตที่เข้ารับฟังบรรยายพิเศษและการแสดงบนเวทีประมาณ 1,500 คน นอกจากนี้แล้วยังมีอาจารย์ผู้สอนรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 28 บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป 10 และผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่ง

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว  โครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง” ขอกราบเรียนเชิญครับ  


คำกล่าวเปิดโครงการ

สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้คือ กำลังขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษบกิจพอเพียงด้านการศึกษา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคน และแน่นอนต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู โดยมุ่งมั่นอยู่ในเฉพาะพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง ผมเข้าใจว่าความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว วิธีการทำงานแบบทำโครงการและประเมินปลายปีนั้นยากมากที่จะได้ "Good Project" (ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ Good Project ไว้ที่นี่)  ดังนั้น ไม่ว่ามุมมองของท่านอธิการจะมองว่า ลักษณะงานเช่นนี้ หรือสิ่งที่ผมพยายามเขียนเผยแพร่เหล่านี้ เป็นเพียงแต่เชิงทฤษฎี แต่ผมกลับมั่นใจว่านี่แหละคือวิธีปฏิบัติในการหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในตัวนิสิตหรือผู้เรียน

อย่างไรก็ดี เราก็ได้รับกำลังใจอย่างดีจากท่านอธิการที่ให้เกียรติมาเปิดงานทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้ ที่แม้ท่านจะมีภารกิจติดงานต่อเนื่องก็ปลีกเวลามากล่าวเปิด และยังย้ำด้วยว่า ให้ทำกิจกรรมลักษณะนี้อีก ต่อไปนี้ไป ... ต่อไปนี้เป็นร่างคำกล่าวเปิด ที่ส่งให้ท่าน (ตัวอักษรขนาดเล็กเป็นส่วนที่ท่านสลับใช้การเล่าประสบการณ์ความพอเพียงของท่านแทน) (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)



คำกล่าวเปิด
โครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง”
วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560
ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
--------------------------------------
โดย   ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์  ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เรียน  ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ผู้บริหาร อาจารย์ และนิสิตทุกคน

       
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง” ในวันนี้ 

เป้าหมายของการส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้นิสิต บุคลากร และประชาชน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองตามอัตภาพ

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเกี่ยวกับเฉพาะเรื่องการเกษตร เกี่ยวกับเกษตรกรเท่านั้น ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการผลิต การซื้อขายกระจายผลผลิต ส่วนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการประหยัดอดออม ใช้วัสดุสิ่งของหรือวัตถุดิบจากพื้นถิ่นเท่านั้น  แต่แท้จริงแล้ว

(ท่านเล่าว่า ความพอเพียงนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวเรามาก  เช้าวันนี้ ขณะที่จะผูกเนคไทท่านพบ "หู" ล็อคหางเนคไทขาดหายไป แทนที่จะซื้อใหม่ แต่ท่านดัดแปลงสายรัดขอบกางเกงเก่ามาใช้แทน ...นี่ก็เรียกว่าพอเพียง)

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นทั้งหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต โดยยึดเงื่อนไข ๒ ประการคือ เงื่อนไขคุณธรรม และเงื่อนไขคุณธรรม จะทำอะไรต้องไม่ผิดหลักคุณธรรมจริยธรรม สืบค้นและนำความรู้วิชาการมาใช้เสมอ ก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง คิดพิจารณาอย่างครบถ้วนทั้ง ๓ ห่วง ว่า พอประมาณหรือไม่ มีเหตุผลมีหรือไม่ มีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือไม่ ระหว่างกระทำและหลังกระทำ ระลึกและกำกับให้อยู่ในเงื่อนไข ๒ และพิจารณาครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

อย่างไรก็ดี วิธีเดียวที่จะทำให้นิสิตเข้าใจได้อย่างแท้จริง คือ การน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงราชการที่ ๙ ทรงพระราชทานให้เรา ไปใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง  กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนผลการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของตน จากการชมผลงานและการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และกิจกรรมการแสดงบนเวที ดังที่ท่านผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไปได้กล่าวรายงาน

ในโอกาสนี้ กระผมขอขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดโครงการในครั้งนี้ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงขอเปิดโครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: “ธุรกิจพอเพียง” และขอให้การจัดโครงการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอขอบคุณครับ

๓) ผลิตภัณฑ์และสินค้าจากนิสิตจากรายวิชา ปศพพ. และ รายวิชาการส่งเสริมผู้ประกอบการ

ปีนี้เป็นปีการศึกษาแรก ที่เราส่งเสริมให้นิสิตทดลองคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยใช้วัตถุดิบในพื้นฐานชุมชน การจัดให้นิสิตได้นำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ปีนี้จึงไม่ได้เน้นเต็มรูปแบบ แต่จัดในลักษณะตลาดนัดความรู้ และกำหนดแรงจูงใจในหลักสูตร (คะแนนบางส่วน) ให้นิสิตได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน

หลังจากพิธีเปิด เราวางแผนกันว่า จะให้ประธานและแขกผู้มีเกียรติได้เดินชมผลงานของนิสิตท่จัดไว้บริเวณหน้าห้องประชุม  ขอเล่าด้วยภาพด้านล่างครับ













สรุป "ธุรกิจพอเพียง" ปีนี้ เราเน้นไปที่กลไกให้นิสิตได้เริ่มคิด ลองทำ และวางระบบให้ได้นำผลงานมานำเสนอแบ่งปันกัน

ในการจัดตลาดนัดยังมีปัญหาเรื่องการจัดการผู้ชมและผู้นำเสนอ การให้นิสิตจำนวนมาก มาลงทะเบียนในสถานที่หน้าห้องประชุมนั้นไม่พอประมาณเลย  เราได้เรียนรู้แล้วว่าภาคการศึกษาหน้าควรทำอย่างไร

๔) การแสดงจากนิสิตจิตอาสา

พลังของจิตอาสานี่ประมาณค่าได้ยากยิ่งครับ งานใหญ่ขนาดคนร่วมงานเป็น ๑,๐๐๐ คน ทั้งนิสิต อาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติระดับประเทศดังที่ได้กล่าวมา  แต่ใช้งบประมาณเพียง ๑๖,๐๐๐ บาทเศษ ผมตีความว่า นี่คือสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงสอนพวกเรา เมื่อไหร่ที่พวกเราสามัคคี สิ่งดีที่เกินความคาดหมายแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ ๒ ห่วง ๓ เงื่อนไขครบถ้วนสมดุล  นำมาสู่ความสุขสำเร็จร่วมกัน

เหตุที่ประหยัดขนาดนั้นได้เพราะ ท่านวิทยากรทั้ง ๓ ท่านจาก สำนักงาน กปร. ท่านไม่ขอรับค่าวิทยากรใด ๆ  การเดินทางก็จัดการของท่านเอง อาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ ก็มาช่วยด้วยจิตอาสา ศิลปินนิสิตจิตอาสาก็ขนอุปกรณ์มาแสดงกันด้วยแรงแห่งใจล้วน ๆ  ไม่มีใครต้องการค่าตอบแทนใด ๆ เลย  ... สุดยอดครับ ขออนุโมทนากับทุกท่านครับ  ต่อไนปี้เป็นภาพบางส่วนของศิลปินจิตอาสา ครับ


รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์

คุณสำราญ ช่วยจำแนก (อิ๊ด วงฟลาย)

คุณกวินนัฎฐ์ ยศอมรสุนทร (พี่หยวน เฮง เฮง)

 นิสิตจิตอาสาจากคณะวัฒนธรรมศาสตร์


นิสิตจิตอาสาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์


กลุ่มนิสิตจิตอาสาจากวิทยาลัยดุริยางคศิปล์ มมส.

กลุ่มนิสิตจิตอาสาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

ผมเองไม่รู้มาก่อนว่าทุกคนจะมาร่วมกันขนาดนี้ จึงไม่ได้กำชับเรื่องประชาสัมพันธ์ให้นิสิตผู้สนใจเข้าร่วมมากนัก  มุ่งตรงไปเพียงนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา ปศพพ.  เท่านั้น  อย่างไรก็ดี นิสิตบางคนที่เหมือนจะไม่เต็มใจเข้าไปชม แต่ก็นั่งชมด้วยความสนุกตลอดงาน

(โปรดติดตามตอนต่อไป... ใครอย่างได้รูปทั้งหมดคลิกที่นี่ครับ)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"