CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _๑๘: รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "งานมหกรรมนำเสนอฯ "ธุรกิจพอเพียง" (๔)

บันทึกนี้เขียนต่อจากบันทึกล่าสุดนี้ครับ  เป็นบันทึกความประทับใจที่ได้เรียนรู้จากงานมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้จากรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๔) สื่อความรู้ศาสตร์พระราชา  สำนักงาน กปร.

ผอ. ศศิพร ได้มอบสื่อเพาเวอร์พอยท์จากสำนักงาน กปร. ซึ่งผมคิดว่า น่าจะนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คงช่วยอาจารย์ผู้สอนได้ไม่มากก็คงไม่น้อย  (ท่านสามารถดาวน์โหลดได้เลยครับ)

  • เรื่อง "จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา และหลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"  (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ หรือ pdf ที่นี่ครับ) 
  • เรื่อง "เรียนรู้ตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ หรือ pdf ที่นี่ครับ)
  • เรื่อง "การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ หรือ pdf ที่นี่)
  • เรื่อง "พระผู้ทรงเป็นบูรพาจารย์แห่งแผ่นดิน (ดาวน์โหลดได้ทีนี่หรือ pdf ที่นี่)
ใครที่ตั้งปณิธานในใจตนเองจะเดินตามรอยพระบาทรัชกาลที่ ๙  สิ่งที่ต้องศึกษาและพัฒนาตนเองตามรอยพระองค์ คือ ทศพิธราชธรรม  ๑๐ ประการ

Cr. สำนักงาน กปร.

ในหนังสือตามรอยพระยุคลบาทครูของแผ่นดิน ถอดความการบรรยายพิเศษของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เกี่ยวกับ การบำเพ็ญพระองค์ตามทศพิธราชธรรม ไว้น่าสนใจยิ่ง ดังนี้
  • ทาน คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน  ทานมีอานิสงค์มาก  ...ครั้งหนึ่งเคยมีรับสั่งว่า บ้านเมืองเราสามารถอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้แม้จะมีปรากฎการณ์โดมิโน (Domino Effect) มาอยู่ที่เมืองไทย หลังจากที่เวียดนาม ลาว เขมรล่มสลายแล้ว แต่ก็ไม่มีผลกับคนไทย สาเหตุเพราะคนไทยยังให้กันอยู่...
  • ศีล ทรงเคร่งครัดในการรักษาศีลมาก ทรงระวังกาย ระวังวาจา หากมีแมลงหรือยุงทรงใช้การปัดเอา ไม่เคยตบ ...วันหนึ่งเสด็จไปจังหวัดนราธิวาส ...ทากเกาะพระบาทของพระองค์เต็มไปหมด พอรถเคลื่อนขบวนออกไป มีพระราชกระแสรับสั่งมาทางวิทยุให้หยุดขบวน ขอหยุดจับตัวยึกยือกัน ทรงเรียนทากว่าตัวยืกยือ ...แล้วปล่อยลงข้างทาง ...ทรงไม่ทำร้ายสัตว์  
  • ปริจาคะ คือ การเสียสละ การอุทิศ หรือให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เล็กน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ เช่น การเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น  ... ข้อนี้หากเปรียบเทียบกับข้อแรก  ถือเป็นการให้แบบหวังผลตอบแทน เป็นประโยชน์ใหญ่ให้ส่วนรวม  ธรรมข้อนี้คือ ภาวะผู้นำของสุดยอดผู้นำโลก ผมเคยเขียนเกี่ยวกับทศพิธราชธรรมเพื่อสื่อสารกับนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาภาวะผู้นำ (ที่นี่)  
  • อาชวะ คือ ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ ...พระองค์รับสั่งว่า ใครอย่างรวยให้ลาออกจากราชการไปประกอบธุรกิจ พระองค์ไม่ทรงห้าม แต่ถ้าตัดสินใจเข้ามารับราชการแล้ว ต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง... ครั้งหนึ่งทรงเคยเน้นย้ำสำทับถึง ๓ ครั้ง กับคณะผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการ (ผู้ว่า CEO)  ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ที่เข้าเฝ้าว่า  ใครทุจริตแม้แต่นิดเดียวขอให้มีอันเป็นไป  
  • มัททวะ ความอ่อนโยนทั้งกายและใจ ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน  จะเห็นได้ชัดเจนจากอริยาบทการทรงงาน ... การโน้มพระวรกายลงไปหาประชาชน เป็นภาพที่เห็นอยู่เจนตา ประทับราบกับพื้น ทรงคุกเข่าอยู่ต่อหน้าประชาชน ประทับพับเพียบอยู่บนดินบนทราย  ... 
  • ตปะ คือ การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบาง หรือเพียรเพ่งเผากิเลส ขจัดความเกียจคร้าน และอกุศลทั้งปวง 
  • อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ  ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงโกรธ มีแต่ทรงดุด้วยความเมตตา ... ครั้งหนึ่งไปเฝ้าตอนเย็นวันศุกร์  ทรงรับสั่งว่า "ตรงนั้นเขากำลังลำบากอยู่ ไปดูซิ"  ดร.สุเมธ กราบบังคมทูลว่า " เช้าวันจันทร์จะรีบไปพระพุทธเจ้าข้า"  พระองค์ทรงรับสั่งว่า "อ๋อ เช้าวันจันทร์หรือ ความทุกข์นี่มันมีวันหยุดด้วยนะ" ทรงดุแล้วทรงสอนต่อ "ความทุกข์มีเดี๋ยวนี้ก็ต้องไปเดี๋ยวนี้ อีก ๔๘ ชั่วโมง จะเป็นอะไรก็ไม่รู้ เราไม่เป็นแต่เขาเป็น" 
  • อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน  
  • ขันติ คือ อดทน   ไม่มีผู้ใดจะอดทนเหนือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกแล้ว ทรงรับสั่งเองว่า ในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ ตามปกติถ้าเป็นพีระมิดของประชากร พระองค์จะประทับอยู่บนยอดพีระมิด แต่เมืองไทยเป็นพีระมิดหัวกลับ ... ทรงประทับอยู่ก้นกรวย  ครั้งหนึ่ง ก่อนจะประชวร แพทย์กราบบังคมทูลขอให้หยุดพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์ทรงเหนื่อยมากแล้ว พระองค์รับสั่งว่า ไม่เป็นไรความสุขครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ฉันยังทำไหวอยู่ ฉันจะทำให้เขา 
  • อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติผิดธรรม หรือความไม่คลาดในธรรม ทรงทำอย่างถูกต้องเสมอ ไม่เคยปฏิบัติตามพระอารมณ์ของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างที่ทรงทำจะอธิบายได้หมด มีตัวบทกฎหมายรองรับ 

Cr. สำนักงาน กปร.
  •  ปี ๒๔๙๓ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" 
  • พระราชกรณียกิจก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีลักษณะเป็นงานพัฒนาสังคม เช่น งานสังคมสงเคราะห์ กิจกรรมรณรงค์หาทุนสร้างอาคารพยาบาล เป็นต้น 
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นต้นมา ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาค ไม่ว่าภูมิประเทศจะยากลำบากทุรกันดารเพียงใด ทำให้ทรงทราบความทุกข์ร้อนของราษฎร และทรงช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ 
  • ในท้องที่ห่างไกลการคมนาคมนั้น ทรงเน้นให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องข้าว ทรงพยายามทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมีข้าวพอกิน 
  • ทรงมีรับสั่งว่า "การช่วยหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและการตั้งตัวให้มีความพออยู่พอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด"  แนวพระราชดำรินี้ เป็นที่มาของโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายมุ่งตรงต่อการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบท  ซึ่งมีมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ  ซึ่งอาจแบ่งเป็น โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์  
 
Cr. สำนักงาน กปร.
  • ทรงเริ่มเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ 
  • โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาการเกษตร โครงการพัฒนาสงเคราะห์และส่งเสริมอาชีพ โครงการพัฒนาสวัสดิการสังคม โครงการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร โครงการพัฒนาสาธารณสุข โครงการพัฒนาการศึกษาและการวิจัย และโครงการต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง ๖ แห่ง (คัดลอกจากหนังสือ ตามรอยพระยุคบาท ครูของแผ่นดิน
  • โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกคือ การทำถนนห้วยมงคล บ้านห้วยมงคล อำเภอห้วหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรออกมาขายได้สะดวก 
Cr. สำนักงาน กปร.
  • ปี ๒๔๙๖ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรก  ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ๖๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนสร้างเขื่อนดินสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎรบ้านเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  (อ่านต่อที่นี่)
  • ปี ๒๕๐๔ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา (คลิกที่นี่)  คือตัวอย่างของ โครงการตามพระราชประสงค์   คือโครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะได้ผลดี เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงานในภายหลัง 






Cr. สำนักงาน กปร.
  • โครงการหลวง คือ โครงการที่ทรงมุ่งพัฒนาชาวไทยภูเขา ด้วยการปลูพืชแทนฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า  โครงการหลวงได้รับรางวัล แมกไซไซ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑
  • โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระราชทานข้อแนะนำและแนวพระราชดำริให้ภาคเอกชนรับไปดำเนินการ เช่น โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น 


ท่านใดที่สนใจอยากได้สไลด์ทั้งหมดที่ ผอ.ศศิพร ปาณิกะบุตร ท่านมอบไว้ โปรดคลิกดาวน์โหลดตามที่ได้ให้ลิงค์ไว้ข้างต้นแล้ว

(ขอจบตอนไว้เท่านี้ครับ)


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"