ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_29 : ร่วมด้วยช่วย ดร.นุชรัตน์ (๓) เสนอวิธีวิพากษ์ชิ้นงานสร้างสรรค์

บันทึกตอนที่ (๒)

๔) กิจกรรมนำเสนอและวิพากษ์

กิจกรรม "ของสองสิ่ง" ที่นำมาใช้กับครูครั้งนี้ ครูเพ็ญศรีนำมาใช้หลังจากที่ได้ไปเรียนรู้จากค่าย "Move World Together"  (อ่านบันทึกครูเพ็ญศรีได้ที่นี่) เข้าใจว่านำมาทดลองหลายครั้ง กว่าจะได้วิธีการดังที่นำมาใช้กับครูครั้งนี้ 

หลังจากการทำกิจกรรมจนได้ชิ้นงานหรือผลงาน ขั้นตอนสำคัญคือ การนำเสนอและวิพากษ์หรือแนะนำจากครู  เราสาธิตกระบวนการนี้โดยให้ครูแต่ละนำเสนอแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากของสองสิ่ง แล้วผมเป็นผู้วิพากษ์ ตรงนี้ลำบากที่สุด เพราะนอกจากจะวิพากษ์แบบสด ๆ แล้ว จะต้องป้อนกลับ (Feedback) ให้อาจารย์เจ้าของผลงาน ได้ประโยชน์และมีแรงบันดาลใจ ไม่เสียหน้าด้วย  และที่ยากกว่านั้น คือเราไม่สามารถบอกได้แบบ "ฟันธง" ว่าเป็นนวัตกรรมหรือไม่ เพราะด้วยเวลาจำกัด เราไม่รู้กระบวนการได้มาซึ่งชิ้นงาน 

เพื่อให้ครูรู้แนวทางในการวิพากษณ์แนะนำ ผมขอนำเสนอภาพที่ผมวาดไว้ในบันทึกที่แล้วอีกครั้ง ดัานล่าง  แล้วให้ลองนำหลักการนี้ไปวิพากษ์งานของผู้เรียนใน ๒ ประเด็น ดังนี้ 



วิพากษ์กระบวนการคิด 

วิธีการวิพากษ์ คือให้เอาองค์เหล่านี้เป็นเกณฑ์คร่าว ๆ  ครับ โดยครูคงต้องศึกษาความหมายและตัวอย่างขององค์ประกอบแต่ละด้านของความคิดสร้างสรรค์ (แนะนำให้อ่านความหมายจากบันทึกนี้)  เช่น 
  • คิดคล่องแคล่ว (Fluency)  ให้มองจากจำนวนไอเดียที่เสนอขึ้นในกลุ่ม คิดได้กี่อัน มีการถกเถียงกันอย่างไรในกลุ่มก่อนจะตัดสินใจเลือกอันที่นำมาใช้เป็นผลงาน  ถ้ามีจำนวนไอเดียที่เสนอกันในกลุ่มมากภายในเวลาที่กำหนด แสดงว่า มีทักษะการคิดคล่องแคล่วดี ฯลฯ 
  • คิดยืดหยุ่น (Flexibility) ให้พิจารณาจากจำนวนมุมมองของผู้เรียน เมื่อเห็นของสองสิ่งที่กำหนดให้แล้ว เห็นอะไรบ้าง มองใหนมุมไหนบ้าง เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง เชื่อมโยงกับเรื่องใดบ้าง นึกถึงอะไรบ้าง ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมีมุมมองหรือการรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างไปได้หลายแบบ ... ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "คิดแนวข้าง" (Lateral Thinking) ของศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) (สนใจลองอ่านบันทึกของ รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ที่นี่)
  • คิดละเอียดละออ (Elaboration) ก็พิจารณาจากความละเอียดละออของการคิด ขั้นตอน หรือชิ้นงาน อธิบายได้ชัดเจน ละเอียด เป็นลำดับขั้น ฯลฯ 
  • คิดริเริ่ม (Originality) คือ ความใหม่ ความแปลกใหม่  ข้อนี้ต้องซักถามผู้เรียนให้ดีถึงกระบวนการได้มาซึ่งไอเดียว่า ได้มาอย่างไร มีแรงจูงใจจากอะไร ไปเห็นที่ไหนมาหรือไม่ เป็นต้น 
วิพากษ์ชิ้นงานหรือผลงาน

วิธีการคือ แบ่งระดับของผลงานออกเป็น ๔ ระดับตามทฤษฎีที่เสนอโดยศาสตราจารย์กิลฟอร์ด  ได้แก่ ระดับ ๑ ลอกเลียนแบบ ระดับ ๒ ต่อเนื่องต่อยอด ระดับ ๓ สังเคราะห์ และ ระดับ ๔ นวัตกรรม  ผมขอเสนอวิธีการพิจารณาว่าชิ้นงานหรือผลงานอยู่ในระดับใด ด้วยการพิจารณา ๔ ประเด็น ได้แก่ 
  • องค์ความรู้ หากผลงานชิ้นนั้น ๆ จะได้เกรด ๔ (ระดับ ๔) ผู้เรียนจะต้องบอกได้ว่า เขาสร้างงานนั้นจากองค์ความรู้ใหม่อะไร?  หากไม่ใหม่ แสดงว่างานนั้นได้สูงสุดแค่ระดับ ๓ 
  • องค์ประกอบของผลงาน  ลอกเลียนจะมีองค์ประกอบเหมือนเดิม ต่อยอดหรือต่อเนื่องอาจจะต่างไปแต่ก็ยังคล้ายเดิม ส่วนระดับ ๓ สังเคราะห์ องค์ประกอบจะเปลี่ยนไปเป็นองค์ประกอบใหม่ 
  • วิธีการหรือกระบวนการหรือเครื่องมือ ถ้าเหมือนเดิมก็ได้ไม่เกิน ๒ ระดับ จะให้ระดับ ๓ ๔ ได้ ควรเป็นวิธีการใหม่ 
  • ดูจากผลผลิตหรือผลลัพธ์ ระดับ ๑ จะคล้ายเดิม ระดับ ๒ จะดีกว่าเดิม ระดับ ๓ ต้องใหม่ ระดับ ๔ จึงเรียกได้ว่า นวัตกรรม  
ผมแสดงวิธีวิพากษ์แบบนี้ด้วยต้นมะมวง (... ผมระลึกถึงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่องพระมหาชนก)


ก่อนจะไปดูผลงานจากการระดมสมอง (ในเวลาจำกัดของครู)  อยากเน้นย้ำ ว่าต้องวิพากษ์เชิงบวก หรือไม่ก็เปิดใจกันไปเลยว่า ถ้าจะเรียกว่า "นวัตกรรม" ต้องทำออกจากองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งความจริงต้องได้จากกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ และมักพบส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัย นั่นหมายถึง ความรู้ที่เรียนกันอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกือบทั้งหมดจะเป็น "องค์ความรู้เดิม" ที่พบกันมานานแล้ว  และถ้าสอนกันแบบ "บอก" หรือ "ถ่ายทอด" โอกาสที่จะเกิด "นวัตกรรม" ถือได้ว่า "จอด" เลยครับ  .... ดังนั้นวิธีการสอนแบบ PBL ที่เน้นกระบวนการที่เรากำลังทำนี่แหละครับ จะฝึกฝนให้คนรุ่นใหม่สร้าง "นวัตกรรม" ได้จริง ๆ

มาลองวิพากษ์กันครับ  แต่ผมขอข้ามการวิพากษ์ในประเด็นเรื่ององค์ประกอบของการคิดสร้างสรรค์ เพราะเวลาในการนำเสนอมีจำกัดมาก  จึงได้ใช้วิธีให้ทุกคนในห้องวิพากษ์และตัดสินเฉพาะประเด็นประเภทของความคิดสร้างสรรค์ว่า อยู่ระดับใด โดยให้ชูนิ้วกันแบบเห็น ๆ  



  • ของสองสิ่งของกลุ่มวัยจิ๊บ คือ หลอดดูดกับขวดสเปร์พลาสติก สิ่งประดิษฐ์ของกลุ่มนี้คือ "ทุ่นอัฉริยะ" หรือ "Smart Buoyancy" โดยถือเอา คุณสมบัติการลอยน้ำของขวดพลาสติกมาทำเป็นทุ่นลอยน้ำ และลักษณะที่เป็นแท่งยาวของหลอดดูดมาใช้ทำหลักบอกระดับความลึกของน้ำ โดยปักแท่งเสาที่เขียนสเกลความลึกไว้ใจกลางทุ่น เมื่อทุ่นเลื่อนขึ้นลงตามผิวน้ำ เราจะสามารถบอกระดับน้ำได้ 
    • องค์ความรู้ที่นำไปใช้เป็นองค์ความรู้หรือหลักการเดิม (แต่ถ้าสำหรับนักเรียนอาจใหม่นะครับ) จึงจะได้สูงสุดเพียงระดับ ๓ ครับ 
    • องค์ประกอบใหม่ครับ พิจารณาไม่เห็นขวดพลาสติกกับหลอดดูดแล้ว 
    • วิธีการ สำหรับผมแล้ว น่าจะเป็นวิธีเดิมครับ เพราะเคยเห็นมาแล้ว แต่ถ้าเป็นนักเรียนอาจใหม่
    • ผลผลิตน่าจะเก่าหรือเดิมครับ เพราะทุกคนต่างรู้จักทุ่นลอยน้ำลักษณะนี้ดี  
    • สรุป ได้ ๒.๐๐ คะแนน ครับ 




  • กลุ่มทานตะวันได้รับ ตะปู และ ยางลบ  สิ่งประดิษฐ์ที่ทำคือ ตรายางประทับตรา โดยเอายางลบมาแกะสลัก แล้วเอาตะปูมาติดไว้ให้เป็นด้ามจับ  อีกสิ่งสิ่งประดิษฐ์หนึ่งคือเอายางลบไปทำที่รองขาเก้าอี้  ตรายางลบผมให้ระดับ ๒ ครับ ส่วนยางรองอยู่ในระดับ ๑ ครับ 
  • องค์ความรู้ที่อยู่ "หลังตะปู" คือ ความแขงแร็ง เป็นแท่งปลายแหลม ผิวหยาบ ยึดสิ่งต่าง ๆ ไว้ด้วยกันด้วยแรงยืดหยุ่นและเสียดทานกับเนื้อวัตถุ  ส่วนยางลบ คือ ความยืดหยุ่น เสียดสี ดูดซับเสียง ดูดซับแรง  หากคิดบนฐานวิเคราะห์องค์ความรู้ด้วยกิจกรรมนี้ คงไปได้สูงสุดเพียงระดับ ๓ คือขั้นสังเคราะห์ เช่น  อาจนำไปประดิษฐ์ล้อยางมอเตอร์ไซด์หรือจักรยานที่ไม่ต้องสูบลม เป็นต้น 




  • กลุ่มจ๊าบ ๆ  ได้รับ สายล็อคพลาสติก กับ ล้อเฟืองพลาสติก สิ่งประดิษฐ์ คือ จักรยานล้อเดียว  หากพิจารณาดู องค์ความรู้จากของสองสิ่งนี้ที่นำไปใช้คือการหมุนของล้อ ส่วนองค์ประกอบ วิธีการ จักรยานล้อเดียวที่ได้ก็รู้กันอยู่ทั่วไป  ดังนั้น ระดับคะแนนที่ได้จึงอยู่ที่ขั้นลอกเลียน ระดับ ๑ แต่ควรเป็น ๑.๕ เพราะว่า ใช้วิธีคิดแบบพยายามดัดแปลง 
  • เฟืองล้อพลาสติก ใช้หลักการเคลื่อนที่แบบหมุน ใช้ความรู้เรื่องแรงหนีหรือแรงสู่ศูนย์กลาง ส่วนสายล็อคพลาสติก ใช้การออกแบบเดือยล็อคผ่านได้ทางเดียวและใช้ความเหนียวทนแต่ม้วนงอหรือเปลี่ยนรูปรางได้ง่ายของพลาสติก สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้หลักการเหล่านี้เช่น พัดลม ใบพัด เป็นต้น 







  • กลุ่มได้หมดถ้าสดชื่นได้รับสำลีและถ่ายไฟฉายเก่า ในกลุ่มมีคุณครูที่จบวิทยาศาสตร์ จึงวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบได้อย่างละเอียด  และเข้าใจว่า วิทยากรให้สร้างนวัตกรรมจากสิ่งที่มอบให้ สิ่งประดิษฐ์จึงกลายเป็นการแยกเอาองค์ประกอบถ่านเก่า มาต่ออนุกรมทำแหล่งกำหนดไฟฟ้าขึ้นมา และในทางปฏิบัติน่าจะเป็นไปได้ด้วยครับ  ... แต่ถ้าหากให้วิพากษ์เรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น อยู่ในระดับ ๑.๕ ครับ ลอกเลียนแบบดัดแปลง  องค์ประกอบเดิม วิธีเดิม 
  • จะเห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ที่คิดขึ้นนั้น เป็นผลจากองค์ความรู้เดิมในตัวครู นั่นหมายครูต้องใส่ใจในความรู้ในตัวนักเรียนด้วยครับ 




  • กลุ่มนี้ไม่ปรากฎชื่อ แต่สิ่งที่ได้รับน่าจะเป็นลวดโลหะและดินสองไม้ (ขออภัยหากจำผิด)  สิ่งประดิษฐ์คือ บ้านน็อคดาวน์  ความคิดเรื่องบ้านนอคดาวน์ก็เดิมครับ องค์ความรู้เรื่องการทำบ้านน็อคดาวน์ด้วยโครงสร้างอะลูมีเนียมนี้ใหม่เพราะไม่มีใครทำ เพราะไม่แข็งแรงและราคาแพง จึงเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ทำจริงได้ยาก อย่างไรก็ดีการมองเอาความเบาและเคลื่อนย้ายง่าย น่าจะเป็นความพยายามในขั้นสังเคราะห์ ให้เป็นระดับ ๓ ครับ แต่เป็นระดับ ๓ ที่อยู่ในความคิดเท่านั้น




  • กลุ่มลักยิ้ม ได้รับไม้เสียบลูกชิ้น กับ ที่หนีบผ้าพลาสติก  สิ่งประดิษฐ์ คือ พาหนะสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือฟังว่า เรียก "ราชรถเรือ"  รถละเรือคือองค์ความรู้เดิม การเอามาบูรณาการกันเป็นเป็นเรื่องเดิมเพรามีคนทำแล้ว  แต่ที่สำคัญคือไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่ไดัรับ ดังนั้น สิ่งประดิษฐ์จึงเกิดจากการคิดเป็นส่วนใหญ่ ผมให้อยู่ระดับ ๑ ครับ 




  • กลุ่มเซลฟี่ ได้มะขามเปียกกับเข็มหมุด สิ่งประดิษฐ์กลายมาเป็นชุดมะขามเปี๊ยก เรียกว่าเกือบหลุดโลกเลยครับ แต่น่าสนใจมาก เพราะ หากทำเสื้อผ้าที่นำมาเป็นอาหารหรือเครื่องปรุงได้จริง  การเดินป่า การผจญภัย คงเปลี่ยนไปไม่น้อย   
  • ผมคิดว่า องค์ความรู้เรื่องเสื้อ การทำเสื้อผ้า และอาหาร ของอาจารย์ในกลุ่ม ถือเป็นองค์ความรู้เดิม วิธีการก็เดิม แต่องค์ประกอบของเสื้อเป็นแบบใหม่ โดยใช้มะขามเปียก จึงอยู่ที่ระดับ ๓ แต่เป็นระดับ ๓ ในความคิด 



  • กลุ่มตะมุตะมิ ได้รับตะขอและกระบอกฉีดยา แล้วเอาองค์ความรู้หลักการทำงานที่ต้านแรงของกระบอกฉีดยา และลักษณะรูปร่างของตะขอที่เกี่ยวและจับดึงได้ มาดัดแปลงใช้เป็น "เครื่องมือออกกำลังกาย" ขยายขนาดกล้ามเนื้อหน้าอก  ผมคิดว่าองค์ความรู้เรื่องเครื่องออกกำลังกายแบบนี้ค่อนข้างใหม่ (แม้จะใกล้เคียงแบบเดิม) องค์ประกอบของเครื่องนี้ก็ใหม่ วิธีการคล้ายเดิม และผลิตก็เกือบใหม่ จึงให้ ระดับ ๓.๒ ครับ 
สุดท้ายนี้ อย่าได้ใส่ใจในระดับหรือคะแนนที่ได้เลยครับ  สำคัญคือ นักเรียนชอบ ภูมิใจ สุข มีความสุขที่ได้เรียน ได้สร้างสิ่งใหม่ในใจเขา ก็ถือว่าสุดยอดแล้วครับ 

บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องการเรียนรู้ชุมชนครับ 




ดูรูปทั้งหมดที่นี่ครับ  

ป.ล. ถ้าเป็นกลุ่มแล้วแต่ ที่ได้รับสายไฟกับซอสมะเขือเทศ ท่านผู้อ่านจะให้สร้างสรรค์ระดับใดครับ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"