CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_23 : ค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี (๒) โครงงานบนฐานปัญหาชุมชน

บันทึกนี้เขียนสำหรับนักเรียนที่สนใจจะเข้าร่วม "โครงการเด็กดีมีที่เรียน" ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โดยเฉพาะนักเรียนที่เข้าร่วมค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี (อ่านที่นี่)

โครงการเด็กดีมีที่เรียนก่อเกิดขึ้นด้วยนโยบายระดับประเทศ มีข้อตกลงความร่วมมือ (MOU, Memorandum of Understanding) ระหว่าง สพฐ. สกอ. และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ  มีเจตนารมณ์ที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน "นักกิจกรรม" หรือ "ผู้นำ" ได้โควต้าเข้าเรียนในสาขาวิชาหรือคณะที่เหมาะสมกับตนเอง โดยไม่ต้องสอบข้อเขียนแข่งขันกับนักเรียนในลู่วิ่งโรงเรียนติวทั่วไป

การรับนิสิตนักศึกษาในโครงการเด็กดีมีที่เรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจแตกต่างกันไปตามแต่นโยบาย ส่วนใหญ่จะรับในลักษณะโควต้าพิเศษสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ แต่สำหรับ มมส. จะรับเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคามเพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยในบ้านเกิด และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอีสานเพื่อสรรหาและส่งเสริมให้มีนิสิตแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย

ตั้งแต่มีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็นต้นมา สำนักศึกษาทั่วไปเริ่มมีกระบวนการพัฒนาหนุนเสริมให้เกิดนิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๙ ประการ (อ่านที่นี่)  หวังเป็นพลังสำคัญที่จะสรรสร้างและส่งเสริมคนดีได้มีโอกาสปกครองบ้านเมืองต่อไปในภายหน้า

ปัญหาสำคัญของการกระบวนการส่งเสริมและพัฒนานิสิตแกนนำขับเคลื่อนฯ คือ นิสิตในโครงการเด็กดีเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ มีนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์เพียงประมาณ ๕๐ คน  (อ่านได้ที่นี่) และเหลือจำนวนนิสิตที่มาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างปีการศึกษา จำนวนหลัก ๑๐ - ๒๐ คน จากนิสิตในโครงการ ๗๔ คน  เราพบว่า นิสิตที่มีจิตอาสามาร่วมงานกันในจำนวนดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่เคยเป็นนักเรียนนักกิจกรรมหรือเป็นผู้นำนักเรียนที่มีผลงานการทำเพื่อโรงเรียน เพื่อส่วนรวม เพื่อชุมชน มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนัธยม ... ดังนั้น โจทย์ปัญหาของเราคือ ทำอย่างไรจะให้โอกาสนักเรียนที่มีผลงานการทำโครงงานความดีหรือเป็นผู้นำทำกิจกรรมในโรงเรียนเข้ามาเป็นนิสิตในโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดีครั้งที่ ๑ นี้

๑) กระบวนการรับนิสิตโครงการเด็กดีมีที่เรียน

การรับนิสิตโครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี ๒๕๖๑ อยู่ในรอบที่ ๑ ของการเอนทรานซ์ ๔.๐  คือช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน  ไม่มีการสอบข้อเขียน พิจารณาจากแฟ้มสะสมงานเท่านั้น นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกต้องทำการยืนยันสิทธิ์ในช่วงวันที่ ๑๕-๑๙ ธันวาคม ๖๐ (Clearing House อ่านที่นี่) และจะประกาศผลวันที่ ๒๒ ธันวาคม รายละเอียดอื่น ๆ  ให้รอดูจากประกาศจากสำนักศึกษาทั่วไป


ที่ผ่านมาเราขับเคลื่อนโครงการเด็กดีมีที่เรียนจากภายใน ระเบิดจากภายในใจ ขับเคลื่อนด้วยแรงศรัทธาต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ มุ่งให้นิสิตในโครงการได้มุ่งศึกษาและพัฒนาตนเองตามแนวพระราชปณิธานตามอัตภาพของตน และขยายผลความสุขความสำเร็จไปสู่ผู้คนรอบข้างต่อไป ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามที่จะส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้มีโอกาสเติบใหญ่เป็นผู้นำของสังคมและชุมชน




  • กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนที่ดีมคุณธรรม จริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ขาดโอกาสจากระบบการแข่งขันทดสอบเตรียมตัวด้านวิชาการ และเป็นนักเรียนที่รู้จักตนเอง มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน รู้ว่าตนเองต้องการที่จะเรียนสาขาวิชาอะไร คณะอะไร ซึ่งมีอยู่ในทุกโรงเรียน
  • ผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า นักเรียนคนนั้นเป็นใคร คือ ครู โดยเฉพาะคุณครูแนะแนว หรือคุณครูประจำชั้น อย่างไรก็ดี โรงเรียนมักมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือก 
  • ลักษณะเฉพาะของโครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ โรงเรียนจะต้องคัดเลือกนักเรียนเพียง ๑ คน สำหรับสาขาหนึ่งเท่านั้น  แต่ละปีจำนวนรับของแต่ละสาขาจะแตกต่างไปตามความประสงค์ของหลักสูตร  
  • เมื่อเข้ามาเป็นนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน "นิสิตดี" ควรจะกลับไปทำความดีเพื่อโรงเรียนเดิมของตนเอง ที่ผ่านมา จะมีโครงการ "เด็กดีคืนถิ่น" 
  • ในระหว่างที่เป็นนิสิต นิสิตจิตอาสา สามารถเข้าร่วมพัฒนาตนเอง กับโครงการต่าง ๆ ของสำนักศึกษาทั่วไป การทำงานเป็นทีมร่วมกัน ความบากบั่น อดทน จะเป็นปัจจัยฝึกฝนให้เป็นบัณฑิตที่ดีต่อไป 
  • สรุปแล้ว เด็กดี ก็คือคนดี คนดีก็คือคนที่มีความกตัญญู ไม่เฉพาะต่อพ่อแม่แต่ต่อโรงเรียน ให้กลับไปช่วยน้อง ๆ ที่โรงเรียน พาให้พวกเขารู้จักการช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมต้้งแต่ยังเด็ก ส่งเสริมให้เขามีควมผูกพันกับท้องถิ่นภูมิลำเนาและโรงเรียนเก่าในเชิงที่เป็นผู้พัฒนา ความหวังสูงสุดคือ โครงการนี้สามารถสร้างบัณฑิตที่เป็นที่พึ่งแก่สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม



  • ที่ผ่านมา กระบวนการรับเริ่มต้นที่โรงเรียนคัดกรอง ๑ คนต่อหนึ่งสาขาที่สนใจและตั้งใจว่าจะไม่สละสิทธิ์  จากนั้นส่งหลักฐานไปรวบรวมที่ต้นสังกัด เช่น สพม. อบจ. ส่วนโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะส่งมาโดยตรง  จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ซึ่งเป็นตัวแทนจากหลักสูตรเพื่อมาคัดเลือกในขั้นสุดท้าย 



  • โดยสรุป นักเรียนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ต้องขั้นบันได ๓ ขั้น ได้แก่ ๑) ได้รับคัดเลือกจากโรงเรียน  ผู้ที่ถูกคัดเลือก คือ "เด็กดี" ที่โรงเรียนการันตีแล้ว ๒) ต้องมีผลงานความดีโดยเฉพาะโครงงานหรือโครงการหรือกิจกรรม ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเฉพาะนักเรียนที่มีประสบการร์ในการเรียนรู้ในชุมชนผ่านกระบวนการบนฐานปัญหาจริงในชุมชน (3PBL) หรือ แบบ ๗ส. โดยใช้เครื่องเรียนรู้ชุมชนต่าง ๆ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มย่อย หรือเครื่องมือ ๗ ชิ้นของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ดังภาพด้านล่าง 



  • การเรียนรู้แบบ  3PBL นี้อาจต้องใช้เวลาเป็นปีการศึกษา และมีครูอาจารย์คอยหนุน เป็นโค้ช ให้คำแนะนำ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)  
  • หากมีเวลาเพียง ๑ ภาคการศึกษา ขอแนะนำ การเรียนรู้บนฐานปัญหาที่แท้จริงในชุมชน CPBL แบบ ๗ส. ดังภาพ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)


ความภาคภูมิใจจากการเรียนรู้ชุมชนแบบ ๗ส. ขึ้นอยู่กับ ๓ องค์ประกอบหลักของปัญหา ได้แก่ ๑) ความท้าทาย ๒) ประโยชน์ต่อส่วนรวม และ ๓) ความยั่งยืน  ดังนั้นก่อนจะเลือกปัญหาควรนำ ๓ องค์ประกอบนี้ไปเป็นเครื่องมือในการพิจาณาประกอบ  โดยอาจใช้ขั้นตอนดังที่แสดงในภาพด้านล่างนี้ เป็นต้น ผลที่ได้คือจะได้ปัญหาที่ "เข้าท่า"




  • เมื่อได้ปัญหาที่ "เข้าท่า" น่าสนใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การศึกษาปัญหาอย่างละเอียด เทคนิคที่ใช้ได้ดีคือ การใช้ "ต้นไม้ที่ตายแล้ว"  โอกาสที่จะแก้ปัญหาได้สำเร็จและยั่งยืน ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ได้สาเหตุที่แม่นยำและสามารถทำได้จริง  






  • และปัจจัยสู่ความสำเร็จอีกประการคือ ความชัดเจนของจุดมุ่งหมาย ภาพความสำเร็จที่ชัดเจน ความละเอียดละออในการคิด  เทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ดีคือ "ต้นไม้แห่งความสำเร็จ" ดังภาพ 


  • การเรียนรู้แบบ ๗ส. สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ต้องแก้ปัญหาชุมชนด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์  วิธีพิจารณาว่า วิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มนั้นสร้างสรรค์หรือไม่ อาจใช้เทคนิค "หลอดไฟ" และ " ต้นไม้ ๖  ต้น"  (อ่านลายละเอียดที่เคยเสนอไว้แล้วที่นี่


อ่านมาถึงตอนนี้ นักเรียนเด็กดีที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียน ขอให้จับกลุ่มกันเป็นทีม แล้วลงสำรวจปัญหาชุมชน และฝึกฝนตนเองจากการแก้ปัญหาจริง ๆ ในชุมชนได้เลยครับ  และให้ตระหนักในประเด็นต่อไปนี้

  • มีอาจารย์ที่ปรึกษา  เข้าไปหาอาจารย์อย่างน้อย ๑ ท่าน ในโรงเรียน เล่าให้ท่านฟัง และขอให้ท่านเป็นโค้ชให้ในการเรียนรู้บนฐานปัญหาครั้งนี้  ให้ท่านคอยดูเรื่องความปลอดภัยและความเหมาะสม 
  • ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ  กล้องถ่ายรูป บันทึกเสียง ถ่ายรูปทุกชิ้นงานและกระบวนการ ทั้ง BAR AAR และบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้ไว้  อาจารย์แนะนำให้เข้าไปบันทึเรื่องราวทาง www.gotoknow.org 
  • ฝึกฝนทักษะการนำเสนอ ทั้งด้วยวิธีเขียน วิธีพูด วิธีสร้างสื่อ ตัดต่อหนังสั้น ฝึกฝนด้วยตนเองได้  สร้างผลงานของตนเอง แล้วหาโอกาสนำเสนอในเวทีต่าง ๆ  เพื่อรอฟังเสียงสะท้อนป้อนกลับ (Reflecion, Feedback) จากผู้รู้ต่าง ๆ  
  • ระวังเรื่องการโพสท์แชร์สิ่งต่าง ๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์  เช่น เฟสบุ๊ค เป็นต้น  การพิจารณาเลือกบุคคลเข้าเรียนหรือเข้าทำงานในศตวรรษใหม่ อาจจะมีการสืบค้นย้อนหลังเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ... ให้ระวัง 
ขอจบบันทึกนี้เท่านี้ครับ วันสุดท้ายของค่าย อาจารย์จำใจต้องมาช่วยเวทีครูก่อน จึงไม่สามารถจะบันทึกได้ดีนัก  จึงขอเล่าด้วยภาพท้าย ๆ ของบันทึกนี้ครับ 






























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"