CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_22 : ค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี (๑)

วันที่ ๑๘-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ สำนักศึกษาทั่วไป จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ในชื่อโครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ มีนักเรียนที่กำลังจะขึ้นชั้น ม.๖ จำนวน ๙๖ คน จาก ๖๘ โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ๕๘ โรงเรียน และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐ โรงเรียน

หลักคิดและวัตถุประสงค์ของค่ายฯ นี้ อยู่ในร่างคำกล่าวรายงานละคำกล่าวเปิดด้านล่างนี้ครับ   ขอขอบพระคุณ ผอ.ไพทูล พรมมาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน  รวมถึงคณะครูผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกประการในงานค่ายครั้งนี้


คำกล่าวรายงาน
โครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑
วันอังคารที่ 18-20 พฤษภาคม 2560
ณ ค่ายลูกเสือดงใหญ่ ร.ร.ดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อ.วาปี จ.มหาสารคาม
--------------------------------------
โดย  ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม รองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป
เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก

          กระผมในนามของผู้จัดโครงการขอขอบคุณท่าน  ที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ นี้
          ตามที่สำนักศึกษาทั่วไปได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ โครงการเด็กดีมีที่เรียน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ และโครงการส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนเป็นนิสิตแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา
          เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียนในปีการศึกษาที่ ๒๕๖๑ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนของตนเอง มากขึ้น พร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน ได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน ผ่านการจัดค่ายเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์และบ่มเพาะจิตอาสา  จึงได้จัดโครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ นี้ขึ้น โดยกำหนดเป้าหมาย ๓ ประการ ได้แก่ ๑) นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒) นักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยโครงงานบนฐานปัญหาจริงในชุมชน  ๓) นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนมีคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป
           ผู้ร่วมงานในค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดีในครั้งนี้ ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียนจากโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ๕๘ โรงเรียน และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๑๐ โรงเรียน โรงเรียนละ ๒ คน รวมทั้งสิ้น ๙๖ คน นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนจำนวน ๓๐ คน บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป ๗ คน
          บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว  โครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ ขอกราบเรียนเชิญครับ 

********************************************


 คำกล่าวเปิด
โครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑
วันอังคารที่ 18-20 พฤษภาคม 2560
ณ ค่ายลูกเสือดงใหญ่ ร.ร.ดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อ.วาปี จ.มหาสารคาม
--------------------------------------
โดย   ผอ.ไพทูล  พรมมากุล
เรียน  รองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป วิทยากร คณะครู บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป นิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี และนักเรียนทุกคน

          ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ ในวันนี้  โดยเฉพาะเมื่อทราบว่า ค่ายมีเป้าหมายที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานบนฐานปัญหาจริง ๆ ในชุมชน  เพราะการเรียนผ่านการแก้ปัญหาในชุมชนนั้น นอกจากจะพัฒนาทักษะที่จะทำให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตได้ดีในศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว ความรักความหวงแหนในท้องถิ่นภูมิเลาเนาของตนเองจะถูกบ่มเพาะภายในใจของเรา        
          ในระบบการศึกษาของไทย การเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาถือเป็นหัวเลี้ยวรอยต่อของชีวิต สิ่งสำคัญคือต้อง “รู้เรา” คือรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเอง “เก่ง” อะไร คือต้องรู้ว่าตนเองถนัดอะไร รู้ว่าตนเอง “ดี” ตรงไหน คือสามารถทำประโยชน์อะไรเพื่อผู้อื่นได้ และสำคัญที่สุดคือ รู้ว่าตนเอง “มีสุข” สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งต้องเป็นความสุขที่ไม่ได้นำทุกข์มาให้ในภายหลัง ในที่นี้คือต้องเลือกให้ได้ชัดเจนว่าตนเองจะเรียนต่อไปประกอบอาชีพอะไร จะเลือกเรียนสาขาอะไร
          เมื่อ “รู้เรา” แล้ว ต่อไปคือต้อง “รู้เขา” รู้ว่าการจะเดินไปสู่สิ่งที่เราต้องเป้าหมายไว้ จะต้องทำอย่างไร เกณฑ์การคัดเลือกเป็นแบบไหน ต้องสอบอะไร GAT/PAT เขาเอาเท่าไหร่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ในปี ๒๕๖๑ นี้รัฐบาลมีนโยบาย Clearing House เขาหมายถึงอะไร สาขาที่เราจะไปเรียนมหาวิทยาลัยไหนเปิด มหาวิทยาลัยที่เปิดรับแบบไม่ต้องสอบ ดูเฉพาะผลงานจาก Portfolio เหมือนโครงการเด็กดีมีที่เรียนเหมือนมหาวิทยาลัยมหาสารคามนี้ มีที่ไหนบ้าง
          อย่างไรก็ดี อยากให้กำลังใจทุกคนได้ตั้งใจ ขยัน อดทน เตรียมตัวให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีของตนเอง เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและครูที่จะภาคภูมิใจไปกับความสำเร็จของเรา รวมไปถึงโรงเรียนต้นสังกัดของเราเองก็จะพลอยมีชื่อเสียงด้วย
          ในโอกาสนี้ กระผมขอขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดโครงการในครั้งนี้ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงขอเปิดโครงการค่ายอาสาพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดี ครั้งที่ ๑ และขอให้การจัดโครงการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ขอขอบคุณครับ 



********************************************


 ผอ.ไพทูล พรมมาลา กำลังกล่าวเปิดงาน

อ.สายใจ ปินะกาพัง อ.นุศรา โพธิ์ไทย อ.ทองใบ ปะวะเส และ รอง ผอ.ถนอม ทองภูธรณ์ ให้เกียรติมาร่วมเปิดค่ายอย่างเป็นทางการ

กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้เกือบทั้งหมดออกแบบโดยชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี เฉพาะวันที่สองของค่ายเท่านั้น ที่ให้เป็นช่วงเวลาเรียนรู้เรื่อง "โครงการเด็กดีมีที่เรียน" และ อบรมเชิงปฏิบัติการทำโครงงานบนฐานปัญหาจริงในชุมชน  ตารางกิจกรรมนำเสนอในตารางด้านล่างนี้





เริ่มวันแรก เป็นกิจกรรมสันทนาการและสานสัมพันธ์ให้รู้จักกันฉันน้องพี่  นอกจากกิจกรรมบังคับประจำค่าย ได้แก่ สันทนาการ ละลายพฤติกรรม จับบัดดี้-บัดเดอร์ ซองจดหมาย ยังมีกิจกรรมเวียนเรียนฐานต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จดีในค่ายที่ผ่านมา (อ่านได้ที่นี่)  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นที่พอใจพอสมควร  แต่ไม่เท่ากับค่ายครั้งที่แล้ว ผมตีความว่า  "เวลา" คือปัจจัยอธิบายความแตกต่างนี้ ค่ายนี้เริ่มกิจกรรมตั้งแต่บ่ายวันแรก ส่วนค่ายรับน้องสร้างสรรค์ เวียนฐานกันในวันที่สองซึ่งน้อง ๆ สนิทสนมกันพอสมควรแล้วจึงดูจะ "สนุก" กว่า ...  อย่างไรก็ดี หากมีข้อสะท้อนจากน้อง ๆ ที่ไปค่ายนี้ที่ได้อ่านบันทึกคงดีไม่น้อย

ภาพเหตุการณ์เวียนฐานสนุกสนานสานสัมพันธ์













 เชิญพุ่มสลาก

 สันทนาการสานสัมพันธ์


กำลังจะเริ่มแสดงละคร "ของวิเศษ"

ขออภัยที่ยังไม่ไปถึงเรื่องรายละเอียดแนวทางการรับนิสิตในโครงการเด็กดีมีเรียน ประจำปี ๒๕๖๑   พอดีเรื่องนี้เราคุยกันวันที่สองของค่ายนี้แบบเต็มวัน ทั้งบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการ  ... รออ่านบันทึกต่อไปครับ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"