รายวิชาศึกษาทั่วไป_ วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๘ : มหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ๒-๒๕๕๙ (๑)

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีการประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  มีประเด็นแจ้งเพื่อทราบและพิจารณาเกี่ยวกับโครงการมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ประจำภาคเรียนที่ ๒-๒๕๕๙ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๐ นี้  เพื่อให้เข้าใจร่วมกัน จึงขอใช้บันทึกนี้สื่อสารไปยังอาจารย์และนิสิต อีกช่องทางหนึ่ง

ข้อมูลเบื้องต้นในการจัดโครงการ

  • ชื่อโครงการ "มหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ประจำภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๙ 
  • งานมหกรรมฯ จะจัดขึ้นวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๐ ณ อาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่)  โดยกำหนดให้นิสิตมาจัดเตรียมนิทรรศการก่อนในวันที่ ๒๒ 
  • กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จำนวนทั้งสิ้น ๗,๔๓๓ คน จาก ๑๒ คณะ ๒ วิทยาลัย ๖๒ หลักสูตร ๖๗ กลุ่มการเรียน 
รูปแบบการนำเสนอผลงาน

ผลงานที่กำหนดให้นำเสนอในงานมหากรรมฯ นี้มี ๒ ลักษณะ ได้แก่ ๑) การประกวดผลงานดีเด่นจากคณะ-วิทยาลัย และ ๒) ผลงานของนิสิตจากทุกกลุ่มการเรียน  โดยกำหนดรูปแบบในการนำเสนอ ดังต่อไปนี้ 

๑) การประกวดผลงานดีเด่นจากคณะ-วิทยาลัย 

ก่อนถึงวันจัดงานมหกรรมฯ ทุกคณะ-วิทยาลัย ต้องจัดให้นิสิตในแต่ละกลุ่มการเรียนหรือกลุ่มย่อย ให้มีโอกาสได้นำเสนอผลงานหรือผลการเรียนรู้ของกลุ่มตนเอง ซึ่งเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการศึกษา และให้ทางคณะ-วิทยาลัย คัดเลือกผลงานดีเด่นเพียงผลงานเดียวเพื่อเป็นตัวแทนเข้าประกวดผลงานหรือผลการเรียนรู้ดีเด่นระดับคณะ 

รูปแบบการนำเสนอผลงานดีเด่นฯ กำหนดให้นำเสนอ ๒ รูปแบบ ได้แก่ การจัดนิทรรศการในพื้นที่ประมาณ ๒.๐๐ x ๒.๐๐ ตารางเมตร และการนำเสนอบนเวทีโดยใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที โดยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้แต่ละคณะฯ ได้แก่ 
  • ​บอร์ดขนาดมาตรฐาน ๑ บอร์ด 
  • โปสเตอร์จขนาด ๑x๒ เมตร จำนวน ๒ อัน 
  • โต๊ะหน้าขาว ๔ ตัว 
  • x-stand  ๒ อัน 
ทั้งนี้ ทั้งสองรูแบบจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ บาท  

ในการจัดนิทรรศการ นอกจากจะนำเสนอผลงานดีเด่นของกลุ่มนิสิตที่ชนะเลิศจากคณะฯ แล้ว ทางคณะฯยังสามารถคัดเลือกเอาผลงานอื่น ๆ ที่โดดเด่น มาจัดแสดงไว้ในบู๊ตเดียวกัน โดยตำแหน่งของบู๊ตนิทรรศการจะถูกจัดไว้ในตำแหน่งแรก หันหน้าเข้าหาเวที อยู่ติดกับพื้นที่ที่จัดเก้าอี้ไว้ให้ผู้ชมงานบนเวที ดังรูปด้านล่าง 



การนำเสนอผลงานบนเวทีก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะนำเสนอผลงานดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะ-วิทยาลัยแล้ว ทางคณะ-วิทยาลัยอาจเกริ่นถึงภาพรวมหรือความสำเร็จของผลงานที่โดดเด่นอื่น ๆ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของคณะ-วิทยาลัยในการเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน ก่อนจะยกผลงานดีเด่นที่คัดเลือกมาเป็นตัวอย่างที่ภูมิใจนำเสนอ 

๒) รูปแบบการนำเสนอผลงานของนิสิตจากทุกกลุ่มการเรียน (หรือกลุ่มการเรียนย่อย) 

ผลงานอื่นทั้งหมด ที่ไม่ใช่ผลงานที่ไดัรับคัดเลือกให้ขึ้นประกวดบนเวที จะต้องนำเสนอในลักษณะโปสเตอร์ขนาดกว้าง ๑.๐๐ เมตร สูง ๒.๐๐ เมตร (๑x๒ ตารางเมตร) ซึ่งสำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้ประสานงานการผลิตโปสเตอร์ทั้งหมด โดยนิสิตจะต้องส่งไฟล์โปสเตอร์มายังสำนักศึกษาทั่วไป ภายในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐  

จากการประสานงานเบื้องต้น ทางร้านผลิตโปสเตอร์จะจัดทำโปสเตอร์ที่มีขาตั้งในตัว ซึ่งจะคิดค่าใช้จ่าย ๓๐๐ บาท  โดยสำนักฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ



นิสิตแต่ละกลุ่มสามารถออกแบบตกแต่งโปสเตอร์ได้อย่างอิสระ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้ ได้แก่ 
  • มีตราโรจนากรที่ด้านบนของบนเตอร์ (ด้านบนตำแหน่งใดก็ได้)
  • ชื่อผลงาน   
  • ชื่อหลักสูตรหรือสาขาวิชา 
  • ชื่อคณะ-วิทยาลัยที่สังกัด 
  • กลุ่มการเรียน และ กลุ่มการเรียนย่อย (ถ้ามี)
  • วัตถุประสงค์ของโครงการ 
  • ข้อมูลพื้นฐานหรือปัญหาหรือบริบทของชุมชน 
  • วิธีการดำเนินโครงการและผลการดำเนินโครงการ (อาจเขียนแยกหรือรวมกันได้แล้วแต่ความเหมาะสม)
ข้อแนะนำสำคัญคือ 
  • ควรนำเสนอภาพกิจกรรมจริง ๆ ประกอบ ให้เห็นการมีส่วนร่วมของสมาชิก เห็นขั้นตอนสำคัญ ๆ ของงาน และเห็นความผลงานหรือความสำเร็จของโครงการ 
  • หากเป็นผลงานที่เน้นการสร้างระบบหรือกลไก ควรนำเสนอเป็นภาพโฟลชาร์ทหรือแผนผังขั้นตอน 
  • หากเป็นโครงการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม นอกจากจะแสดงภาพในโปสเตอร์แล้ว ควรนำชิ้นงานมาวางประกอบด้วย โดยนิสิตอาจเตรียมโต๊ะพับขนาดกว้างไม่เกิน ๑ เมตร มาวางใกล้ ๆ โปสเตอร์ 
กำหนดการจัดงาน

กำหนดการที่ผ่านวาระประชุมแล้ว สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่  ประเด็นสำคัญของกำหนดการ มีดังต่อไปนี้ 
  • วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐ ตัวแทนนิสิตทุกคณะ-วิทยาลัย จัดนิทรรศการ ณ อาคารพลศึกษา ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น. 
  • วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นวันงานมหกรรมนำเสนอฯ  กำหนดเป็นภาคเช้า ๖ คณะ ภาคบ่าย ๖ คณะ ๒ วิทยาลัย ดังนี้ 
    • ภาคเช้า ได้แก่ ๑) คณะการบัญชีและการจัดการ ๒) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ๓) คณะสัตวแพทยศาสตร์ ๔)คณะเภสัชศาสตร์ ๕) คณะแพทยศาสตร์ และ ๖) คณะเทคโนโลยี
    • ภาคบ่าย ได้แก่ ๑) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ๒) คณะศึกษาศาสตร์ ๓) คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ๔) วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ๕) คณะวิทยาศาสตร์ ๖) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ๗) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ ๘) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ 
  • ภาคเช้าลงทะเบียน ๘.๐๐ น. - ๙.๐๐ น. ภาคบ่ายลงทะเบียน ๑๒.๓๐ -๑๓.๓๐ น. 
  • ภาคเช้าพิธีเปิดเริ่ม ๙.๐๐ น.
  • เวลา ๙.๓๐ - ๑๐.๐๐ ประธานในพิธีและกรรมการตัดสินเดินชมนิทรรศการผลงานดีเด่นจากทุกคณะ-วิทยาลัย 
  • เวลา ๑๐. ๐๐ - ๑๒.๐๐ เป็นการนำเสนอบนเวที ผลงานละ ๑๕ นาที สลับการการสะท้อนให้ความเห็นของกรรมการตัดสิน 
  • ภาคบ่ายเริ่มนำเสนอเวลา ๑๓.๓๐ น. จนถึงเวลา ๑๖.๑๐ น. 
  • ๑๖.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. พิธีมอบโล่รางวัล

การประเมินผลการศึกษา



การประเมินผลการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางที่กำหนดไว้ใน มคอ.๓ (ดาวน์โหลด มคอ.๓ ส่วนกลางที่นี่) ของแต่ละคณะ-วิทยาลัย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนกันทุกคณะ-วิทยาลัย และแตกต่างไปตามธรรมชาติของหลักสูตร  ส่วนที่เหมือนกันทุกหลักสูตร ได้แก่ 
  • คะแนนเข้าเรียนก่อนการทดสอบกลางภาคเรียน คิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมด 
  • คะแนนทดสอบกลางภาคเรียน คิดเป็น ๓๐ เปอร์เซนต์ของคะแนนทั้งหมด (ข้อสอบ ๖๐ ข้อ)
  • คะแนนการเข้าฟังบรรยายพิเศษในวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐  (คลิกที่นี่)  คิดเป็น ๕ เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมด หากนิสิตที่ไม่ได้เข้าฟังการบรรยายดังกล่าว จะต้องฟังบรรยายจากคลิป(คลิกที่นี่) และทำรายงานส่งอาจารย์ผู้สอน 
  • คะแนนเข้าร่วมงานมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๐ คิดเป็น ๕ เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมด โดยนิสิตจะได้รับใบงานตอนลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  ดำเนินการตามที่ใบงานกำหนด แล้วส่งตามจุดที่กำหนดไว้ 
ส่วนอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ใด้เป็นไปตามข้อกำหนดในการประเมินตาม มคอ.๓ ของแต่ละคณะ-วิทยาลัย 

ขอชี้แจงให้รับทราบโดยทั่วกันในเบื้องต้นเท่านี้ครับ  บันทึกต่อไปจะชี้แจ้งรายละเอียดมากขึ้น และขอสำรวจรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานของนิสิตต่อไป 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"