ประเมินคุณธรรมจริยธรรม _ ๐๑ : เราไม่สามารถทำสิ่ง "นามธรรม" ให้เป็น "รูปธรรม" ได้จริงหรอกครับ

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีผู้เข้าไปศึกษาคลิปวีดีโอเกี่ยวกับ "พุทธวิทยาศาสตร์" ที่ผมเคยโพสท์ไว้ ซึ่งเหตุที่โพสท์ไว้ในคราวนั้นเพราะกลัวซีดีเรื่อง "พระสัพพัญญูรู้แจ้งโลก" ของมูลนิธิพัฒนาจิต ที่ได้รับมาจะหายไป (ซีดีนั้นหายไปแล้วจริง) ผู้เข้าชม มีความเห็นมากมาย บางท่านนับถือศาสนาคริสต์ หลายท่านนับถือศาสนาพุทธ บางท่านก็ถือลัทธิวิทยาศาสตร์วัตถุ  การถกเถียงเหล่านั้นทำให้ผมนึกหน้างานที่กำลังทำในวันนี้เรื่องการประเมินคุณธรรมจริยธรรม 



ผมไม่มีความเห็นเกี่ยวกับคลิปวีดีโอ แต่อยากตั้งประเด็นให้ทุกคน แยกคำ ๓ คำออกจากกัน แล้วศึกษาแต่ละคำดังต่อไปนี้ให้เข้าใจ คือ  "การคิด" "การรู้" และ "การเห็น"  ผมเข้าใจว่า 

  • การเข้าใจด้วย "การคิด" จะมีคำอธิบายทุกเรื่อง 
  • การเข้าใจด้วย "การรู้" บางเรื่องไม่สามารถอธิบาย
  • สิ่งใดที่ต้องเข้าใจด้วย "การเห็น" จะไม่สามารถอธิบายได้  เพราะเพียงแค่เริ่มจะอธิบาย ก็กลายเป็น "บัญญัติ" หรือ "สัทธรรมปฏิรูป" ไปทันที 
คงด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าท่านถึงทรงสอนเรื่อง อจินไตย ไว้


ปัญหา
มีปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งในการทำงานด้านการพัฒนาคน คือ " เราจะสามารถวัดระดับของสิ่ง "นามธรรม" อย่างคุณธรรม จริยธรรม ความดี ให้เห็นเป็น "รูปธรรม" ได้อย่างไร ?
เท่าที่ทราบ ยังไม่เคยพบรูปแบบการวัดหรือประเมินแบบใดที่สามารถทำได้ จะมีบ้างก็จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขหรือกรอบนิยามขึ้นมาอ้าง  ทำให้หลายอันสูญเสียกความเป็นกลางและความเป็นจริงไป  
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือวัดคุณธรรมจริยธรรมที่แม่นตรงพอ จะทำให้ระบบการคัดเลือกและส่งเสริม "คนดี" คนมีคุณธรรมจริยธรรม ให้ได้ปกครองบ้านเมืองจะมีปัญหาทันที ...ดังที่ทุกท่านทราบดีว่าผมกำลังหมายถึงอะไร 
สำนักศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างบัณฑิตที่เป็น "คนดี" ควรจะศึกษาและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง พัฒนาเครื่องมือวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม และต้องหาวิธีทำให้บรรลุเป้าหมายการสร้างคุณลักษณะนิสิตทีพึงประสงค์ให้ได้ ... จึงขอเปิดบันทึกอีกเล่มหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมชุมชนเดียวกัน 
ผมมีความเห็นว่า  เราไม่สามารถทำสิ่ง "นามธรรม" ให้เป็น "รูปธรรม" ได้จริงหรอกครับ เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรมก็คือนามธรรม โดยเฉพาะนามธรรมที่เป็น "สัจจะ" "ปรมัตรถธรรม" ถ้าพยายามทำให้เป็นรูปธรรม จะกลายเป็น "บัญญัติ" เป็น "สัทธรรมปฏิรูป" ทันที อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริหารยุคนี้ เราคงต้องหาสักวิธีที่จะสามารถวัดระดับคุณธรรมจริยธรรมออกมาให้ได้ เพื่อสื่อสารและสร้างมาตรฐานร่วมกัน 
วิธีการวัดคุณะธรรมจริยธรรม
วิธีการวัดที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปในวันนี้ มีวิธีเดียวคือ "การวัดทางอ้อม" สรุปได้ ๓ ขั้น เริ่มจากนิยาม สร้างเครื่องมือสอบถาม และสังเคราะห์ตีความตามนิยามที่ตั้งขึ้น 
๑) ขั้นนิยาม
มีผู้นิยามไว้หลากหลายมาก ผมตีความว่าทั้งหมดสอดคล้องลงตัวหรือมาจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ผมเคยเขียนสังเคราะห์ทบทวนไว้ที่นี่ จากการสืบค้นเรื่องนี้ ผมพบว่ามีพระนักวิชาการกำลังศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังจำนวนมาก ท่านหนึ่งคือ พระนิมิตร กลิ่นดอกแก้ว ท่านรวบรวมนิยามของคุณธรรมจริยธรรมไว้ ที่นี่และที่นี่ การมี "พระกรรมฐานวิชาการ" จำนวนมาก คือจุดแข็งของสังคมไทย ซึ่งแม้ขณะนี้สังคมยังไม่ได้นำต้นทุนนี้มาใช้ในการพัฒนาคนอย่างเต็มที่ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่หัดเขียนบันทึกแรก ๆ (ที่นี่)

คนที่มีคุณธรรมจริยธรรม คือ "คนดี" คนดีคือคนที่ "ทำดีง่าย ทำชั่วยาก" การทำดีหมายถึงการทำกุศล กุศลคือสิ่งที่ทำแล้วนำความสุขใจมากให้เมื่อระลึกถึง ความสุขใจก็คือความสบายใจ ความดีที่แท้จริงจะสอดคล้องลงตัวกับมรรค ๘ ตามคำสอนในศาสนาพุทธ (ผมเคยเขียนเหตุผลว่าทำไมทุกคนต้องพยายามทำความดีไว้ที่นี่)  ดังนั้นลักษณะและประเภทของคุณธรรมจริยธรรม จึงนิยามบนฐานคำสอนของพระพุทธเจ้า แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน ดังภาพ (ผมเคยเขียนไว้ที่นี่)
ส่วนลักษณะหรือประเภทของคุณธรรจริยธรรมที่นิยามจากตะวันตก ที่ได้รับการยอมรับที่สุดคือ ลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ขอแนะนำให้อ่านบันทึกของอาจารย์แพรภัทร ยอดแก้ว ที่นี่

ข้อสังเกตอีกประการจากการสืนค้นคือ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้จากตะวันตกมากกว่าตะวันออก ซึ่งหากเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข้อนี้จะไม่แปลก แต่นี่เป็นเรื่องคุณธรรมและจิตวิญญาณ ที่ทั่วโลกยอมรับว่า

๒) ขั้นสร้างเครื่องมือวัดคุณธรรมจริยธรรม

วิธีการคือนำนิยามมาตีความแล้วตั้งเป็นคำถาม สร้างเป็นเครื่องมือในลักษณะต่าง ๆ เช่น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบที่มีเกณฑ์การพิจารณาเป็นระดับ (แบบรูบิค) หรือสร้างแบบสังเกตพฤติกรรม มีผู้รวบรวมเกี่ยวกับชนิดและเทคนิคการออกแบบเครื่องมือไว้ที่นี่  ตัวอย่างที่ผมมีประสบการณ์ร่วมออกแบบและนำมาใช้คือเครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบชนิดรูบิค ๔ ระดับ ผู้สนใจคลิกที่นี่

๓) ขั้นสรุป สังเคราะห์ และตีความ

เท่าที่ได้ศึกษาสืบค้น ในขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเพียงระดับ "ความคิด" เท่านั้น และไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากนักวิทยาศาสตร์หรือบุคคลทั่วไปที่อยู่ยุคที่วิทยาศาสตร์ได้รับการยอมรับและเป็นฐานความคิดของทุกคน

ในทางพุทธศาสนา บอกว่า ธรรมะที่เป็นความจริงแท้ในขั้นปรมัตถธรรมนั้น จะสามารถรู้ไดเฉพาะตนเท่านั้น คือใครอยากรู้จริง ๆ ก้ต้องปฏิบัติทดลองให้เห็นด้วยตนเอง ซึ่งการันตีไว้อีกบทหนึ่งว่า ผู้ปฎิบัติย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง ... ความเชื่อมั่นในคำสอนดังกล่าวนี้ บอกว่า เราไม่สามารถทำสิ่ง "นามธรรม" ให้เป็น "รูปธรรม" ได้จริงหรอกครับ

เมื่อทำไม่ได้จึงไม่ทำ เมื่อวัดไม่ได้จึงไม่มีใครวัด และตัดความยุ่งยากนี้ออกไป

ปัจจุบันมีการนำเอาเครื่องมือประกันคุณภาพการศึกษา มาใช้ในการประเมินการทำงาน เมื่อบอกว่าจะประเมิน ถ้าผู้ประเมินไม่คิดเชิงพัฒนา จะถามหาหลักฐานที่เป็น "รูปธรรม" ซึ่งผู้ประเมินก็จะว่าไปตามเกณฑ์ที่มีคนสร้าง การสร้างเกณฑ์ก็เป็นการสร้างเครื่องมือวัดดังที่กล่าวไป  ซึ่งเป็นการยากทั้งผู้สร้างและผู้ประเมิน ทำให้ส่วนใหญ่หลบหลีกการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมไป 

สิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตคือ การศึกษาว่า สถาวะใดที่เป็น "นามธรรม" หรือ "รูปธรรม" ในนามธรรมนั้น อันไหนเป็น "ปรมัตถธรรม" หรือ "บัญญัติ"  ในบัญญัตินั้น อะไรควรเชื่อไม่ควรเชื่อ  ดังนั้นหน้าที่ของผู้ขับเคลื่อนเรื่อง "นามธรรม" จึงจำต้องทำสิ่งที่ทำไม่ได้จริง นั่นคือ วัดคุณธรรมจริยธรรม 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"