ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน _ ๐๑ : "มหาวิทยาลัยชั้นนำเขาเปลี่ยนวิธีสอนหมดแล้วนะ..."

ตามที่ได้ "ฟ่าวประกาศ" ไปว่า สำนักศึกษาทั่วไป ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัย ให้เป็นเจ้าภาพในการพัฒนาอาจารย์เรื่องการเรียนการสอน ในที่นี้หมายถึงเทคนิคและวิธีการสอนของอาจารย์ ซึ่งขณะนี้ทุกมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาก จนแทบจะเหมือนแข่งขันมากกว่าร่วุมมือด้วยซ้ำไป  ที่แน่ ๆ คือถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ "ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน" คงต้องตกขบวนรถไฟในไม่ช้าครับ

เพื่อจะสื่อสารกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาจารย์ทุกท่าน จึงขอตั้งกลุ่ม LINE ชื่อ "อาจารย์ มมส." ขึ้น (หากอาจารย์ท่านใดยังไม่ได้เป็นสมาชิก เชิญคลิกที่นี่ครับ)  และเริ่มบันทึกกิจกรรมและการเรียนรู้ไว้ในบันทึกชุด "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" โดยจะว่ากันเฉพาะเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ขณะนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้ลดและเลิกวิธีการสอนแบบบรรยายบอกความรู้หรือที่เราเรียก Lecture ไปหมดแล้ว ผมขออ้างอิงเรื่องนี้จากบทสนทนาระหว่างอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (ม.ธรรมศาสตร์) กับศาสตราจารย์เบอร์นาร์ด แทน ( Bernard C.Y. Tan) รองอธิการบดีฝ่ายอาจารย์และการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร (NUS) และศาสตราจารย์แนนซี่ บัควิก (Nancy Bugwig) รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาของมหาวิทยาลัยคลาร์กแห่งแมตซาชูเซท (Clark University of Massachusetts) (ดาวน์โหลดที่นี่) ห้องเรียนกลับทางหรือ Flip Classroom กำลังเข้ามาแทนที่ การ Lecture ที่ยังเหลืออยู่บ้าง จะเป็นช่วงที่ผู้สอนใช้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนเท่านั้น 

เหตุผลที่ศาสตราจารย์บัควิกตอบสั้น ๆ ว่าทำไมมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาเลิก Lecture  คือ "... เพราะนักศึกษาไม่ชอบ..."   งานของเขาจึงเป็นแค่เพียง "เปลี่ยนวิธีการสอน" 

แต่เมื่อย้อนมองมาที่เรา จะพบว่า หลายครั้งอาจารย์จะพบว่า นิสิตไม่ชอบการสอนแบบใหม่ ๆ ที่อาจารย์พยายามจะเปลี่ยน เพียงอยากจะเข้ามานั่งฟังบรรยาย จด จำ สอบ ไม่อยากตอบคำถามหรือตั้งคำถามใด ๆ หรือแสดงออกอะไรทั้งสิ้น ขาดแรงบันดาลใจ ไม่ใฝ่เรียนรู้อะไรด้วยตนเอง .... หากลูกศิษย์ของเราเข้าลักษณะแบบนี้ งานของเราไม่ใช่เพียงเปลี่ยนวิธีสอน แต่ต้องปรับวิธีเรียนของนิสิตพร้อม ๆ ไปกับปรับวิธีสอนของเราด้วย  นี่คือคำว่า "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" ที่หมายถึง 

หากอาจารย์ผู้อ่านยังไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้เลย ขอเสนอจุดเริ่มต้นที่ ปรับจาก Input-based Learning ที่สอนด้วยวิธีบอก สอน ป้อน สั่ง ให้นั่งฟ้งบรรยาย ไปเป็น Outcome-based Learning ที่มุ่งให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ ด้วยวิธีการ "ชง ชวน เชียร์ ชม ช่วย และร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันโดยอาจารย์ผันมาเป็นครูฝึก (Coach) หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) หรือเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) มาเริ่มออกแบบและจัดการชั้นเรียนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยการกำกับตนเอง (Self-directed Learning) กำหนดเงื่อนไขให้เรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดีในศตวรรษที่ ๒๑ ต่อไป 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"