mini-UKM #19 @MSU (๕) วิธีจัดการเรียนรู้ให้เด็ก "มีงานทำ"

ในงาน mini-UKM ครั้งที่ ๑๙ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผมทำหน้าที่เป็น Facilitator กลุ่ม ๑ ใน ๔ กลุ่ม สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "การสอนแบบมืออาชีพ" ในวันนั้น ผมวาดภาพสรุปไว้ แต่ลืมนำมาแบ่งปันให้ท่านอ่าน โดยเฉพาะสมาชิกที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวันนั้น

วันนี้ (๘ ธ.ค. ๒๕๖๑) หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่อง "ครูมืออาชีพ" เมื่อวานนี้ (อ่านที่นี่) นึกขึ้นได้จึงนำมาแบ่งปันครับ

หลักการสอนแบบมืออาชีพ




  • ชาร์ทนี้ได้จากการสังเคราะห์เอาประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้ หรือ วิธีสอน (pedagogy) ของอาจารย์ในกลุ่มย่อยทั้งหมด  
  • วิธีการสอนที่เหมาะสมในยุคที่นิสิตระดับปริญญาตรีตกงานหรือได้ทำงานที่ไม่ตรงสาย ในช่วงตนของศตวรรษที่ ๒๑ นี้ อาจแบ่งได้เป็นวงจร ๔ ขั้นตอน ดังรูปด้านบน
    • ต้องปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด ในที่นี้ยังคงเรียกรวม ๆ ว่า "ผู้ใช้บัณฑิต" (ผมไม่ชอบคำนี้เลยจริง ๆ) ... มหาวิทยาลัยต้องไม่ไปติดร่องของการปรับหลักสูตรทุก ๔-๕ ปี ความจริงต้องปรับปรุงทุก ๆ ปีในรายละเอียด แต่ภาพรวมหรือเป้าหมายหลักต้องไม่เปลี่ยน
    • ต้อง "ปูพื้นฐาน" และ "ปรับพื้นฐาน" ของนิสิตนักศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ๆ เพราะ ผู้เรียนที่เปลี่ยนไปทำให้วิธีการสอนแบบเดิมใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดเล็กหรือไม่ใช่มหาวิทยาลัยหัวตาราง 
    • จัดการเรียนรู้ ให้นิสิตได้ "เรียน" และได้ "ฝึก" โดยทั้งผู้สอนและผู้เรียนต้องกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Learning Outcome ให้ชัดเจน ครบถ้วนทั้ง ๕ ด้าน ทั้ง 
      • Knowledge ความรู้
      • Psychromoter ทักษะทางปัญญา
      • Attitude จิตพิสัย
      • Social Skills ทักษะด้านสังคม 
      • Ethic คุณธรรมจริยธรรม
    • ต้องมีการสะท้อน (Reflection) และ ป้อนกลับ (Feedback) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยต้องทำกระบวนการนี้ทั้งในรายละเอียดเรื่องการสอน ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน และในระดับหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆ 
  • รายละเอียดต่าง ๆ ในภาพในแต่ละขั้นตอน คือวิธีการหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนกัน 




  • อาจารย์ทุกท่านในกลุ่ม เห็นตรงกันว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ ต้องนำไปสู่การ "มีงานทำ" (ที่ตรงกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย) 
  • และสรุปว่า นิสิตที่เป็นที่ต้องการของ "ผู้ใช้บัณฑิต" นั้น นอกจากต้องมีทักษะเฉพาะสาขาของตนแล้ว ต้องมีคุณลักษณะ ๔ ประการ ได้แก่ 
    • "ทำได้ทุกอย่าง" ถ่ายเอกสาร เสริฟน้ำ ชงกาแฟ เขียนโครงการ ทำโครงการ ฯลฯ รู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย
    • มีบุคลิกภาพดี ดูดี แต่งตัวเป็น แต่งหน้าตาเป็น กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าน้ำเสนอ มั่นใจ พูดคุยดี สื่อสารดี ฯลฯ 
    • มีจิตใจดี โดยเฉพาะต้องมี จิตบริการ จิตอาสา จิตสาธารณะ เป็นคนดีมีความกตัญญู ซื่อสัตย์ 
    • มีทักษะชีวิต  แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีปฏิพาน ไหวพริบ อดทน สู้งาน รู้จักระบบราชการ ฯลฯ 



สุดท้ายของบันทึกนี้ ขอนำเอาชาร์ทบันทึกการถอดบทเรียนที่ผมเขียน (อย่างรวดเร็ว) ในวันนั้นมาวางไว้ต่อท้าย เผื่อวันหน้าอาจจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป (ง่ายต่อการสืบค้น) ... แม้ว่าตัวหนังสือจะแย่มาก...ฮา







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"