รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๕๙ (๒) "การฟัง" และ "การถอดบทเรียน"

ถ้าถามว่า ชาวนาในประเทศไทยมีกี่คน คำตอบคร่าว ๆ คือ ประมาณ ๑๗ ล้านคน (อ้างอิงจากข้อมูลนี้)  แต่ถ้าต่อว่า ใน ๑๗ ล้านคนนั้น มีกี่คนที่เรียกว่า "ปราชญ์ชาวนา" ได้ ? ... คำตอบคือ "มีน่าจะเกิน ๑๐๐ คน" ไม่เชื่อท่านลองสืบค้นด้วยตนเองเถิด ...

คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้ชาวนา กลายเป็น "ปราชญ์ชาวนา" ? คำตอบสำคัญคือ "การคิด" ปราชญ์คือ "นักคิด"  หรือก็คือ "นักเรียนรู้" นั่นเอง (Cr. ไพโรจน์ คีรีรัตน์)... ดังนั้น สิ่งที่นิสิตทุกคนจะต้องฝึกฝนตนเองให้มากคือ "ทักษะการเรียนรู้"

ทักษะการเรียนรู้เบื้องต้นที่สุด คือ การ"ฟัง" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการฟังด้วยหู เพราะความจริงแล้วเราไม่ได้ใช้หูฟัง แต่หมายรวมถึง การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่มากระทบด้วย หู ตา สมูก ลิ้น และผิวกาย โดยต้องรับรู้ด้วยใจ ... ดังนั้น  นิสิตควรเริ่มด้วยการฝึกฝนทักษะการ "ฟัง" ของตนให้ดี

กิจกรรมการเรียนรู้ : ฝึก "ฟัง"

ให้นิสิตดูคลิปวีดีทัศน์เรื่อง "เสียงกู่จากครูใหญ่ด้านล่าง" หากไม่สามารถดูได้ ให้คลิกดาวน์โหลดไฟล์ที่นี่ 



เมื่อดูจบ ให้นิสิตเขียนตอบคำถามต่อไปนี้(ด้วยลายมือเท่านั้น) ลงในกระดาษอย่างรวดเร็ว ข้อละไม่เกิน ๓ นาที  คำถามคือ

๑) "เห็น" อะไร ? 

คำว่า "เห็น" ในที่นี้ มีหลักสำคัญว่า ต้องไม่ใส่ความคิดความเห็นของตนเองเข้าไป  ได้ยินอะไรเขียนออกมาแบบนั้น เห็นอะไรเขียนสื่อความหมายสิ่งที่เห็นออกมาตรง ๆ  ไม่ใส่ไข่ ไม่ตีความเกินกว่าที่เห็น ไม่แปลความ

ทักษะที่นิสิตจะต้องฝึกในขั้นตอนนี้คือการ "จับประเด็น" เนื่องจาก เราไม่สามารถจะสดับรับชมและเขียนไปพร้อมกันได้ทั้งหมด  ดังนั้น นิสิตต้องฝึกจับความ จับประเด็นสำคัญ และเขียนออกมาเพียงคำสำคัญ ๆ ที่ได้รับรู้หรือเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ฟัง

ปัญญาที่ได้จากการ "ฟัง" ดังที่กล่าวมาขัางต้นนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล  เรียกว่า สุตมยปัญญา


๒) "คิด" อะไร ?

คำว่า "คิด" ในที่นี้ต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างมีสติ ซึ่งประสิทธิภาพของการเรียนรู้จากการคิดจะเกิดขึ้นเมื่อมีสมาธิตั้งมั่นด้วย  ดังนั้นก่อนจะเริ่มฟังบรรยายพิเศษทุกครั้ง นิสิตควรจะนั่งทำความสงบ ผ่อนคลาย ทำความรู้สึกตัวหรือทำใจให้สบาย ๆ ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ทำใจให้เป็นสมาธิ

ให้นิสิตนำเอาสิ่งที่ตนได้ "ฟัง" ดังที่เขียนไว้ในในข้อ ๑) เป็นต้น มาคิดต่อว่า สมเหตุสมผลไหม?  ควรเชื่อหรือไม่? ใช่หรือไม่ใช่  ถูกหรือผิด? จะนำเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไร? 

ปัญญาที่ได้จากการ "คิด" ดังที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล เรียกว่า จินตมยปัญญา

๓) "รู้สึก" อย่างไร ?

"รู้สึก" ในที่นี้ต้องเกิดที่ "ใจ" คือรับรู้ด้วยใจ  เป็นความรู้สึกที่เกิด ณ ขณะกำลังฟัง ผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยใจได้ดี จะต้องเห็นกระบวนการทำงานของใจตนเอง สติที่ใช้จะเป็นสติระลึกรู้ตัว รู้สภาวะที่เกินขึ้นกับใจ เช่น

กระเทือนใจ แคลงใจ กลุ้มใจ กินใจ เกรงใจ ข่มขืนใจ กระดากใจ ข้องใจ ขืนใจ ขัดใจ เข็ญใจ ระทมใจ อึดอัดใจ คับใจ จับใจ เจ็บใจ ใจชื้น น้อยใจ เบิกบานใจ ร้อนใจ ใจหาย เฉลียวใจ ชอบใจ สะดุดใจ ชุ่มใจ ช้ำใจ เชื่อใจ ตกใจ ตื้นตันใจ บาดใจ เบาใจ ปลงใจ ปักใจ ฝังใจ พอใจ ภูมิใจ มั่นใจ เพลียใจ ยุ่งใจ เย็นใจ เริงใจ โล่งใจ เศร้าใจ สมใจ สบายใจ สลดใจ สะกิดใจ สะใจ สะท้อนใจ สาแก่ใจ สำราญใจ เสมอใจ เสียใจ แสลงใจ หนักใจ หนาวใจ หนำใจ หมองใจ หมางใจ เห็นใจ เหลือใจ แหนงใจ อ่อนใจ อิดหนาระอาใจ อิ่มใจ อุ่นใจ ทุกข์ใจ โมโห โลภ โกรธ อยาก ต้องการ ขยะแขยง เกลียด ฯลฯ  (ที่มา ศัพท์ราชบัณฑิต ที่นี่)


ผู้ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมตามคำสอนพระพุทธเจ้า เรียกการ "ระลึกรู้ใจ-กาย" ตามเป็นจริงดังกล่าวนี้ว่า การเจริญสติ  สติที่หมายถึงนี้คือ "สติปัฏฐาน" คือสติรู้กายรู้ใจตนเอง (ขอแนะนำให้ผู้สนใจสืบค้นออนไลน์ด้วยคำสำคัญ "ดูจิต" และ "หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช")

วิธีการฝึกตนเองด้วยการเจริญสติตามรู้ตามดูกายใจของตนเองนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และสอนไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล  เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ถอดบทเรียน

ผลการวิจัยด้านการเรียนรู้สมัยใหม่ทั้งทางด้านการศึกษาและด้านประสาทวิทยา ยืนยันตรงกันว่า ประสิทธิภาพของการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากเมื่อมีการ "สะท้อนการเรียนรู้" ของตนเอง (Reflection)  การตอบคำถามทั้ง ๓ ข้อข้างต้น คือวิธีการสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองนั่นเอง  เมื่อนำสิ่งที่ตนเองสะท้อน มาสรุปสังเคราะห์เป็นบทเรียน ให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้  ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า "การถอดบทเรียน" นั่นเอง

การถอดบทเรียน เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการความรู้ เป็นการสกัดควมรู้ฝังแน่นในตนเอง (Tacit Knowledge) ให้กลายเป็น ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ที่ผู้อื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

บันทึกต่อไปมาดูผลการถอดบทเรียนจากการดู "เสียงกู่จากครูใหญ่" ของนิสิตในการเรียนการสอนครั้งแรกครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"