รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๕๙ (๘) : กิจกรรมพัฒนานิสิต


วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เราได้โอกาสจาก รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต อาจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ มาเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ในหัวเรื่อง "กิจกรรมพัฒนานิสิต"  ท่านได้ให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตที่นิสิตควรจะรู้ ก่อนจะสรุปประเด็นความรู้ที่ท่านนำมาบรรยาย ขอให้นิสิตศึกษาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ "กิจกรรมพัฒนานิสิต" ในบันทึกนี้

ความเป็นมาของกิจกรรมพัฒนานิสิต  
(ที่มา: กองกิจการนิสิต. คู่มือกิจกรรมนิสิต. พ.ศ. ๒๕๕๔, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

แต่เดิม กิจกรรมพัฒนานิสิต กิจกรรมที่จัดขึ้นทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตร หรือเรียกว่า "กิจกรรมนอกหลักสูตร" (Extracurriculum Activities) โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นเสมือนเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ต่อมากิจกรรมนอกหลักสูตรได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่า เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะให้นิสิตเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองทั้งด้านการเรียนการดำเนินชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นคนเก่ง แต่ยังเป็นคนดีด้วย จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสถานะของการเป็น "กิจกรรมเสริมหลักสูตร" (Extracurriculum Activities) หรือเรียกว่า "กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนิสิต" หรือ "กิจกรรมพัฒนานิสิต" สืบต่อมาจนปัจจุบัน

กิจกรรมพัฒนานิสิตในประเทศไทยในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรมในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงมีการก่อตั้งศูนย์นิสิตแห่งแรกขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรมพัฒนานิสิตด้านอื่น ๆ เพิ่มขึั้น  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มเข้าไปเกี่ยวกับกิจกรรมการเมือง ตั้งแต่นั้นมา กิจกรรมพัฒนานิสิตนักศึกษา ก็เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมเป็นระยะ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้จัดตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้น กิจกรรมจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์เริ่มได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษา และพัฒนาจนได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๓๘ และสืบต่อมาจนปัจจุบัน

สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิตขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (มศว. มหาสารคาม) โดยเรียกว่า "กลุ่มนิสิต"

ช่วงแรกมี "กลุ่มนิสิต" เพียงไม่กี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนิสิตชาวดิน กลุ่มนิสิตพลังสังคม กลุ่มนิสิตก้าวใหม่ ก่อนจะขยายแยกตัวและเพิ่มจำนวนกลุ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นชมรมต่าง ๆ  แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งองค์กรนิสิตระดับคณะหรือสโมสรนิสิต กิจกรรมทุกอย่างรวมศูนย์ร่วมกันอยู่ที่องค์การนิสิต

ในปี ๒๕๓๐ กลุ่มประสานงาน ๑๔ ชมรม ได้แก่ ชมรมอาสาพัฒนา ชมรมศิลปะนครินทร์ ชมรมวิชาการ ชมรมคณิตศาสตร์ ชมรมสถิติ ชมรมเชียร์ ชมรมพุทธศาสน์ ชมรมเกษตรสัมพันธ์ ชมรมสังคมศาสตร์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมศึกษาศาสตร์ ชมรมถ่ายภาพ ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง และชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย ได้ร่วมกันจัดงาน "เปิดโลกกิจกรรม" เพื่อเปิดรับสมัครนิสิตเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยกำหนดให้จัดในวันพุทธ สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่นั้นมา ...  จนมาปรับตามเวลาอาเซียนเป็นเดือนกันยายน ดังที่ทราบกัน

กิจกรรมนิสิตในมหาวิทยาลัย ได้พัฒนาตามความต้องการและสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ดังพอสรุปสังเขป ดังนี้
  • ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นายกองค์การนิสิต คือ นายพัฒน์พงษ์  บุญเลิศ (กุล่มนิสิตชาวดิน)  ได้จัดงานประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นครั้งแรก 
  • ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นายกองค์การนิสิต คือ นายศักดา  นาสองสี  ได้จัดงาน "ผู้บริหารพบนิสิต" ขึ้นเป็นครั้งแรก  และสามารถผลักดันให้เกิดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม "ดินน้ำป่า" เกิดความร่วมมือด้านนี้กับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในเขตจังหวัดมหาสารคามอย่างเป็นรูปธรรมและมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง  จนสามารถก่อตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคามขึ้นได้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๗
  • ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นายกองค์การคือ นายพนัส ปรีวาสนา (กลุ่มนิสิตชาวดิน) มีการริเริ่มให้แต่ละคณะมีการประชุมเชียร์ และปรับโครงสร้างบริหารองค์การนิสิตใหม่ และยกฐานะให้มีสโมสรนิสิตในคณะอย่างเป็นทางการ 
  • ปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ กลุ่มนิสิตพลังสังคม ได้จัดให้มีประกวดดาว-เดือน เป็นครั้งแรก และสโมสรนิสิตก็ทำกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
  • ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายกองค์การนิสิต คือ นายสุทิบ เหล่าอุด สามารถผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณไปให้สโมสรของคณะอย่างเป็นทางการ  จัดโครงการ "ต้นไม้สายใยรัก" เป็นครั้งแรก  และวางรากฐานโครงสร้างของชมรมระดับคณะ
  • ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ นายกองค์การนิสิตคือ นายสุรศักดิ์  เกียรตินอก ผลักดันให้สโมสรสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นเอกเทศ 
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา กิจกรรมพัฒนานิสิตเริ่มให้ความสำคัญกับ "จิตสาธารณะ" มีการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยโดยกองกิจการนิสิต เพื่อกระตุ้นให้นิสิตมีเจตคติที่ดีต่อการเป็นพลเมืองของสังคม โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรมศักยภาพนิสิตสร้างจิตสำนึกสาธารณะ  อบรมนิสิตนักศึกษาอาสาคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ  และมีกลุ่มนิสิตเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น กลุ่มช่อราชพฤกษ์ กลุ่มศิลปะสัมพันธ์ กลุ่มนิสิตดอกคูณ กลุ่มเคียงมอ ชมรมแพรวาคืนถิ่น ชมรมเพื่อมวลชน ชมรมส่งเสริมสุขภาพ ชมรมสถาปัตย์สัญจร ชมรมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชมรมกีฬาเพื่อสังคม เป็นต้น  ทำให้คำว่า "จิตสาธารณะ" รู้จักและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่บัดนั้นมา

ความหมายของกิจกรรมพัฒนานิสิต
(ที่มา: กองกิจการนิสิต. คู่มือกิจกรรมนิสิต. พ.ศ. ๒๕๕๔, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

เอกสารเผยแพร่คู่มือกิจกรรมพัฒนานิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิยามความหมายของกิจกรรมพัฒนานิสิตไว้ ดังนี้

กิจกรรมพัฒนานิสิต หมายถึง กิจกรรมที่นิสิตจัดขึ้นในนามองค์กรนิสิต ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนในหลักสูตร เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการหรือความสนใจของตนเอง ทั้งในแง่ของการค้นหาตนเอง การพัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านโลกทัศน์และชีวทัศน์ รวมถึงการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับการรับรองโดยมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

กองกิจการนิสิต มมส. (คลิกที่นี่)


เว็บไซต์ของกองกิจการนิสิตบอกเล่าประวัติความเป็นมาและข้อมูลต่าง ๆ ไว้ที่นี่ 

กองกิจการนิสิต คือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของทบวงมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีหน้าที่หรือพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาให้นิสิตเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม คิดเป็น ทำเป็น มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ โดยอาศัยกลไกของ "กิจกรรมพัฒนานิสิต" เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะ  ผ่านกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้แก่ บำเพ็ญประโยชน์ กีฬา ศิลปวัฒนธรรม นิสิตสัมพันธ์ และวิชาการ

นอกจากนี้แล้ว ยังทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตมีความพร้อมในการศึกาษาเล่าเรียนตลอดระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตร โดยจัดบริการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ทุนการศึกษา แนะแนวการศึกษาและอาชีพ บริการอนามัยและสวัสดิภาพนิสิต เป็นต้น

รายละเอียดและโครงสร้างการบริหารงานของกองกิจ สามารถสืบค้นต่อได้ที่นี่

ขั้นตอนการขออนุมัติโครงการจากกองกิจการนิสิต 


การทำกิจกรรมพัฒนานิสิตที่จะขอใช้รับการสนับสนุน จะต้องจัดทำในลักษณะของโครงการ แบ่งส่วนกันอย่างชัดเจนระหว่างโครงการที่จะขอรับทุนสนับสนุนจากกองกิจการนิสิตและโครงการที่จะขอจากคณะ  โดยจะต้องยื่นข้อเสนอโครงการตามขั้นตอน ดังแผนผังดังรูป


หลังจากรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต/คณบดีลงนามอนุมัติโครงการ ผู้เสนอโครงการสามารถทำเรื่องขออนุมัติเงินยืมทดรองจ่ายกับฝ่ายการเงิน ซึ่งจะอนุมัติและเบิกให้ก่อนวันดำเนินการประมาณ ๗ วัน

ขั้นตอนการประเมินผลโครงการ (เคลียร์เงิน)

หลังวันจัดโครงการ ๑๕ วัน ผู้รับผิดชอบโครงการต้องดำเนินการส่งรายงานการเงินและสรุปโครงการไปยังกองกิจการนิสต/คณะ ตามขั้นตอนดังแผนภาพ


ข้อควรระวังสำคัญคือ หากไม่สามารถ "เคลียร์เงิน" ได้เรียบร้อยทันตามกำหนดเวลา ๑ เดือน บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ยืมเงินจะถูกหักเงินเดือนได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"