PLC_CADL_031 : AAR เพื่อพัฒนาบุคลากร GE ปี ๕๗ กลุ่มงานบริหารและยุทธศาสตร์ (๑)

วันที่ ๑๗ - ๑๘ CADL จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มงานบริหารและยุทธศาสตร์ ถือเป็นเวทีสุดท้ายของสัมมนาบุคลากรประจำปี เป้าหมายส่วนหนึ่งคือ นำปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ได้จากกลุ่มงานสารสนเทศและกลุ่มงานวิชาการ มาพัฒนาศักยภาพการทำงานของกันและกัน ว่าฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์จะสนับสนุนได้อย่างไร

ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป เดินทางไปถึงก่อนใคร และในครั้งนี้ทีมเราก็อาศัยท่านเป็นประธานเปิดงาน เกริ่นนำ และเชิญท่านเล่านิทาน (๒ เรื่อง) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีและความตระหนักในการทำหน้าที่ ท่านเล่าได้เยี่ยมมากๆ ... ผมฟังแล้ว บอกกับตนเองว่า ต้องเอามาเขียนไว้ให้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมมีโอกาสได้อ่าน...(แต่ต้องขออภัยที่ผมต้องแต่งเติมเสริมเรื่องบ้าง)

ผมสรุปย่อผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้งสองเวทีข้างต้น เพื่อให้ทุกคนได้ทราบปัญหาที่สำคัญคร่าวๆ และเรื่องราวเหตุผลที่ทำให้ทุกคนได้มารวมกันในวันนี้ ก่อนที่จะเรียนเชิญท่านประธาน

เงาะป่า ตอน ท้าวสามนต์สั่งคนทำกระท่อมปลายนา

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองแห่งหนึ่งมีชื่อว่า ท้าวสามนต์ พระมะเหสีชื่อว่า พระนางมณฑา ทั้งสองพระองค์ปรารถนาที่จะหาคู่ครองให้กับพระธิดาทั้ง ๗ พระองค์ จึงได้รับสั่งให้ทหารม้าแจ้งข่าวไปยังหัวเมืองต่างๆ ว่า จะจัดงานวันเลือกคู่ดูตัว ให้เจ้าชายผู้สนใจจากทุกหัวเมืองมารวมกันในวัน ก. เวลา น. พระองค์จะขอให้พระธิดามอบมาลาคล้องแขน ผู้ที่จะเลือกเป็นแฟนและอภิเษกกัน ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างมาก พระธิดาทั้ง ๖ ตกลงเลือกได้พอใจปรารถนา เว้นแต่พระธิดาองค์สุดท้าย องค์ที่ ๗ รจนา ไม่ว่าจะหาชายหนุ่มมาจากที่ใด ก็ยังไม่ใช่สักที จนไม่เหลือใครให้เลือก จะเหลือก็เพียงเจ้าเงาะป่า ที่ทหารม้าเอาดอกไม้แดงล่อมา

เรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อรจนาสบตา "ส่องซอด" ด้วยวิสัยทัศน์ (VISION ที่แหลมคม) เห็นรูปทองในเปลือกเงาะ ทรงมอบพวงมาลาโดยไม่รีรอสิ่งใด ....  แต่ผู้หัวใจจะแตกสลายคือท้าวสามนต์กับพระนางมณฑา  ทั้งสองพระองค์อับอาย จึงได้สั่งการให้นายกรมหมื่นศรีเข้าเฝ้า แล้วสั่งการว่า "ให้เจ้าเอาทหารไป ๔ นาย ไปสร้างกระท่อมท้ายสวน ให้ด่วนเสร็จภายใน ๑ วัน" ด้วยประสงค์จะขับไล่คู่เงาะรจนานั้นไปอยู่เพราะทรงอายผู้อายคน หมื่นศรีรับบัญชามาปฏิบัติ จัดทหารแล้วเรียกมาสั่งการทันทีว่า

"ไอ้มีไปตัดไผ่ ไอ้ใจไปขุดหลุม ไอ้ชื่นไอ้ชุ่มพากันไปเกี่ยวแฝก เสร็จแล้วเกลาเสา เอาโว้ยย้ายแยก ค่ำแล้วกูจะแจก ของแปลกๆ ให้กิน"

ท่าน ผอ.เล่ามาจบตรงนี้ แล้วก็ชี้ชวนว่า ประมาณว่า นิทานเรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับงานฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์หรือไม่อย่างไร


ใครฆ่าเสือในสวนสัตว์ 

กาลครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าใด สวนสัตว์แห่งหนึ่งในประเทศไทยเลี้ยงเสือไว้ ๑ ตัวหนึ่ง งบประมาณที่ทางราชการส่งเพื่อให้จัดหาอาหารประจำวันของเสือตัวนั้นคือวันละ ๑ บาท แต่จากการบริหารจัดการผ่านโครงสร้างอุปถัมภ์ ทำให้เงินไปถึงผู้ซื้ออาหารเลี้ยงเสือเพียง ๓ สลึง  ดังนั้นนับวันเสือจึงผอมลงเรื่อยๆ จนคนที่มาเที่ยวสวนสัตว์สังเกตเห็น และเกิดความสงสาร จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านหน่วยงานของรัฐให้ส่งผู้ตรวจราชการมาสอบ

ไม่นานผู้ตรวจราชการก็มาถึง หลังจากการตรวจสอบ ผู้ตรวจการรายงานว่า เสือไม่ยอมกินอาหาร เพราะเป็นโรคบางอย่าง ทางสวนสัตว์กำลังเร่งหาสาเหตุและรักษา ในขณะที่ผู้ซื้ออาหารส่ายหน้า เพราะว่าตอนนี้เขาได้รับเงินเพียงวันละ ๒ สลึงเท่านั้น ไม่นานเสือก็ยิ่งผอมลงให้เห็นเด่นกว่าเดิมอีก จึงมีผู้ยื่นเรื่องไปร้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง

ผู้ตรวจการคนใหม่มาถึง รีบตรวจสอบและสอบสวน  เดินออกมาแถลงข่าว คล้ายกับคนแรก แต่เสริมว่า เสือเป็นโรคประหลาดที่ยังไม่มียารักษา ขอเป็นกำลังใจให้ ผอ.สวนสัตว์ แก้ไขให้ทันท่วงที แล้วก็จากไป มีเพียงผู้ซื้ออาหารเสือเท่านั้นที่รู้ความจริง แต่เขาก็ไม่กล้าเปิดเผยอะไร เพราะกลัวจะได้รับความเดือนร้อน ได้แต่ก้มหน้ายอมรับว่าต่อไปเขาจะได้ค่าอาหารเสือเพียงวันละ ๑ สลึง

เมื่อผู้ตรวจราชการคนถัดมาจากไปไม่นาน เสือก็ตาย 


ท่านสรุปจบด้วยโครงสี่สุภาพ

เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ    มังสา
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา      ไป่อ้วน
สองสามสี่นายมากำกับ     กันแฮ
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วนบาทสิ้น เสือตาย

แนวทางในการปฏิบัติงานสู่การเป็น Professional Best


นอกจากนิทาน ๒ เรื่องข้างต้น ในการกล่าวเปิดงานของท่าน บุคลากรยังได้เรียนรู้ตัวอย่างวิธีคิด วิธีทำงาน สำหรับผมแล้วถือเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป เช่น
  • "จะไปไหนใจจดจ่อ" ท่านบอกว่า เมื่อเช้าออกตั้งแต่เช้า เป็นคนแรกที่เดินทางมาถึงสถานที่  VAREE VALLAY ทำจดติดเป็นนิสัย จะไปไหนใจจะจดจ่อ ท่านแนะว่า 
    • ถ้าเป็นเจ้าของงาน ควรไปถึงก่อนเวลา ๑ ชั่วโมง
    • ถ้าเป็นผู้ร่วมงาน ควรไปถึงก่อนเวลา ๑๕ นาที  ไปถึงแล้วจะได้พูดคุยทักทายตามสมควร  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (รัฐมนตรีพลังงานฯ) มาเป็นประธานเปิดงาน หลังจากที่ท่านเริ่มกล่าวเปิด มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เป็นของผู้ร่วมงานคนหนึ่ง แทนที่จะรีบปิดโทรศัพท์ เธอกลับรับและคุยอย่างปกตินิสัย แต่อยู่ๆ ผู้เป็นประธานท่านหยุดพูด แล้วกล่าวว่า "ขอความกรุณาให้พวกเราเงียบ เพื่อจะได้ไม่รบกวนท่าน" ทั้งห้องเงียบลงทันที เว้นมีแต่เสียงคุยโทรศัพท์ของเธอ ซึ่งกินเวลาสักครู่กว่าเธอจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น
  • ทำอะไรต้องให้ "เจริญหู เจริญตา เจริญใจ" .... ผมตีความว่า ผอ. ต้องการเห็นการทำงานที่เรียบร้อย รอบคอบ ประทับใจทั้งผู้ที่ได้เห็น ได้เห็น และมีความสุขกับการได้มาร่วมงาน
  • ถ้าเปรียบการทำงานเหมือนเล่นฟุตบอล "..ผมชอบนักบอลที่วิ่งไปหาลูกบอล เล่นบอล ลากบอลไปข้างหน้า แม้ว่าบางครั้งจะล้ำหน้า (off-side) ไปบ้าง แต่กว่าดีกว่าเอาแต่อยู่ข้างหลัง วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ยอมวิ่ง" ....  ผมตีความว่า ท่านส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนทำงานเชิงรุก มุ่งมั่นสร้างสรรค์ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ลดการวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่สร้างสรรค์กันลง...
  • "จงใช้วิกฤตเป็นโอกาส" หลังจากที่ท่าน "โยนไมค์" มาให้กระบวนกร ผมตั้งคำถามเพื่อสะท้อนการเรียนรู้ (After Learning Review :ALR) ของบุคลากรทุกคน ประทับใจอะไรมากที่สุด ปรากฎว่าสิ่งที่หลายคนพูดตรงกันมากที่สุด คือ "เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส" .... ผมไม่ยอมพลาดโอกาส จับเอาประเด็นนี้ไปคุยในตอนบ่ายเพื่อลงรายละเอียดต่อไป 
  • ท่านบอกเกี่ยวกับหน้าที่ของฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ ว่า "เราเป็นกองหนุน" และ "เราเป็นเสนาธิการ"  ... ต่อมาในการแลกเปลี่ยน ผมวิพากษ์การทำงานที่ผ่านมาว่า เราเป็นแต่เพียงกองหนุนในเรื่องทุนคืองบประมาณ และคอยติดตามเพื่อรายงานผ่านเกณฑ์ประกันฯ ส่วนบทบาท "เสนาธิการ" นั้นยังไม่ชัด (เพราะปัญหาเรื้อรังเร่งรัด ยังไม่แผนแก้ไข/ปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน) 
  • "เราโชคดีมากกว่าใคร" ท่านบอกว่า บุคลากรฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ถือเป็นผู้โชคดีกว่าใคร เพราะกุมหัวใจของการพัฒนา และได้เน้นฝึกปัญญาในการทำงาน ...  ผมเห็นด้วยมากครับ ...
  • ฯลฯ  
แต่ละท่านประทับใจอะไร เกี่ยวกับนิทาน หรือโอวาทของประธาน

เราทำ ALR ในประเด็นว่า ใครประทับใจอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากที่ได้ฟังนิทานและโอวาทของท่านประธาน ปรากฎว่าส่วนใหญ่จะประทับใจข้อคิดและแนวปฏิบัติที่ท่านแนะนำ โดยเฉพาะวิกฤตเป็นโอกาส และเรื่องการรักษาเวลา จะไปไหนใจจดจ่อ

ผมเองประทับใจเทคนิคการนำนิทาน "ถนอมราก" หมายถึง การนำเอานิทานหรือวรรณกรรม มาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน และสั่งสอนคนรุ่นน้องๆ ... ผมมั่นใจว่า วิธีนี้จะทำให้คนรักและภูมิใจในความเป็นคนไทยแน่นอน ... จะนำไปประยุกต์ใช้บ้างครับ...

อยากเชิญชวนให้บุคลากรทั้งที่ไปและไม่ได้ไป ช่วยกันทำ ALR ว่าท่านได้เรียนรู้อะไร หลังจากที่ได้อ่านบันทึกนี้ครับ


๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗
บันทึกหน้า จะมาว่ากันเรื่อง "วิกฤตและโอกาส" ครับ








ดูรูปทั้งหมดที่นี่ครับ





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"