PLC_CADL_030 : AAR เพื่อพัฒนาบุคลากร GE ปี ๕๗ กลุ่มงานวิชาการ (๓)

บันทึกที่ ๑ ...
บันทึกที่ ๒ ...


ตอนบ่ายของวันที่ ๓ เมษาฯ ระหว่างที่กำลังถกปัญหากันได้ที่ มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น "ไฟดับ" ความร้อนอบอ้าว ทำให้เราต้องเปลี่ยนสถานที่มาเป็นระเบียงในอาคารที่ัพัก โชคร้ายกลายเป็นดีทันที เพราะเราได้สถานที่และบรรยากาศที่เหมาะกับกระบวนการจิตศึกษา เราทำกระบวนการจิตตปัญญาแบบย่อๆ ...  (แต่ก็พอได้ในความเห็นผม)


ถ้าสมมติว่าทุกคนเป็น "ผู้มาใหม่" ในเรื่องการเรียนรู้จากภายใน (หรือก็คือเรียนรู้จากใจตนเอง) จำเป็นจะต้องรู้ความจริง ๓ ประการ ได้แก่
  • ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นผู้นำ มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ (มะโนบุพพัง คะมา ธัมมา มะโนเสฎฐา มะโน มะยา) ดังนั้นเวาล "ฟัง" ต้อง "ตั้งใจ" เพราะเราใช้ใจฟัง ใช้หูเป็นเครื่องมือรับเสียงและใช้สมองในการคิด ข้อนี้สวนทางกับความเข้าใจส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับสมองกว่า 
  • "ใจ" หรือ "จิตใจ" จะทำหน้าที่ "คิด" หรือ "รับรู้" (รู้คิด รู้สึก) ได้ที่ละอย่าง เรียกว่าทำงานได้ทีละ "ขณะจิต"   เช่น ตอนที่เราฟัง เราจะไม่สามารถ "รู้ว่ากำลังฟัง" หรือ "รู้ว่ากำลังคิด" เพราะความจริงแล้ว สองอย่างนี้เกิดสลับกัน คือ เมื่อจิตเผลคิดก็ไม่รู้ เมื่อจิตรู้การเผลอก็ดับไป 
  • เราไม่สามารถควบคุมบังคับ "ใจ" (หรือจิตใจ)ได้จริง (เรียกว่า อนัตตา) ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป" เปลี่ยนแปรไป (เรียกว่าอนิจจัง) ทนอยู่ไม่ได้จริง (เรียกว่าทุกขัง) ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย หรือดำริขึ้นด้วยใจเอง 
ปัญหาของกระบวนกรคือ ทำอย่างไรจะทำให้ "ผู้มาใหม่" ทุกคน "เห็น" (คือรู้ตัว รู้คิด และเข้าใจได้ด้วยตนเอง) ซึ่งต้องใช้กิจกรรมเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงเท่านั้น

ผมพยายามเต็มกำลัง เริ่มด้วยกิจกรรม "ฟัง ๔ แบบ" (ผู้สนใจอ่านได้ที่นี่ครับ) ตามด้วยกิจกรรม "สื่อสารผ่านสัมผัส หัดเรียนรู้จิต แยกการคิดกับการรู้สึก" (ผู้สนใจอ่านที่นี่ครับ) และปิดท้ายด้วยกิจกรรม "กิจกรรมตีมือดูใจ" เหมือนกับที่ผมเคยใช้กับเวทีครูอ่านได้ที่นี่ครับ ....  ผมไม่รู้ว่ากิจกรรมคราวนี้ได้ผลมากน้อยเท่าใด แต่ถ้าทุกคนเข้าใจและปฏิบัติได้ จะทำให้มีความสุขกับการทำงานตามสมควรแก่ "ทำ (ธรรม)" นั้นแน่นอน

วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗

วันที่ ๔ เมษาฯ ผมตื่นแต่เช้าออกไปวิ่งบนสันเขื่อนลำปาว ได้เรียนรู้ทั้งวิธีชีวิตทำกินของชาวบ้าน ได้เห็นศักยภาพที่รอ (กำลังสร้าง) การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้าน  ผมเขียนบันทึกและถ่ายภาพบางส่วนไว้ที่นี่ครับ เรากลับมาเริ่ม "วง" ประมาณ ๙ นาฬิกาเศษๆ วันนี้มี รศ.ดร.นงนิตย์ รองผู้อำนวยการศึกษาทั่วไปฝ่ายวิชาการมาร่วมกับเราด้วย และท่านยังเสนอแนวคิดดีๆ ที่ผมเขียนไว้ในบันทึกที่ ๒ แล้ว

เราใช้กิจกรรมให้ช่วยกันคิด "แบบกึ่งหลุดโลก" โดยตั้งโจทย์ให้ทุกคนคิดโครงการที่จะทำให้ "อาจารย์ผู้สอนประทับใจ" โดยสามารถใช้งบประมาณได้แบบไม่จำกัด  ต่อไปนี้คือความคิดที่เสนอมา
  • โครงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ โดยพาไปสัมมนานอกสถานที่ ๓ วัน ๒ คืน โดยทำงานกัน ๑ วัน เที่ยวพักผ่อนตามอัธยาศัย ๒ วัน 
  • จัดกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรอาจารย์นอกสถานที่ โดยจัดให้มีกิจกรรมเชิงผจญภัยร่วมกัน 
  • จัดโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรและอาจารย์ โดยให้แต่ละคนร่วมทำกิจกรรม "บทบาทสมมติ" ว่าตนเองเป็น บุคลากร อาจารย์ หรือนิสิต เพื่อ "เอาใจเขา มาใส่ใจเรา" 
  • จัดโครงการสัมมนานอกสถานที่ระหว่าง อาจารย์ บุคลากร GE และบุลากรจากคณะวิชาด้วย 
  • จัดสัมมนา พาอาจารย์ไปต่างประเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่ GE ไปให้บริการ 
  • จัดโครงการสร้างความสัมพันธ์นอกสถานที่ระหว่าง เจ้าหน้าที่วิชาการ GE เจ้าหน้าทีวิชาการคณะวิชา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนกลาง 
  • แจกตำราเรียนฟรี 
เกือบทุกความคิดบอกว่า ต้องจัดโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการสัมมนานอกสถานที่ โดยให้มีกิจกรรมต่างๆ กันไป เว้นที่ความคิดสุดท้ายที่เหมือนจะคิดง่ายๆ ทันสมัยประชานิยม แต่ผมว่า "หลุดกรอบ" จริงๆ ครับ

ผมบอกว่าความคิดที่เห็นตรงกันขนาดนี้นั้นเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญมาก ผู้บริหารและฝ่ายดำเนินงานต้องกลับไปทำการบ้านว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา แต่วันนี้ขอหยิบแนวคิด "หลุดกรอบ" มาขยาย ว่าเราจะทำอย่างไรให้เป็นไปได้จริงๆ

หลังจากคุยกันแบบสวมหมวดสีเขียว (เน้นความคิดสร้างสรรค์) เราได้แนวทางปฏิบัติจากฐานคิด "อาจารย์นิยม" (แปลงจาก "ประชานิยม") ๔ อย่าง ได้แก่
  • แจกไมค์ลอย  การแจกไมค์ลอยจะทำให้การเรียนการสอนเปลี่ยนไปแน่นอน อาจารย์สามารถจัดการเรียนการสอนโดยให้นิสิตมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น  และการเดินดูและนิสิตไปรอบๆ ห้อง จะทำบรรยากาศการเรียนการสอนน่าสนใจขึ้นแน่นอน 
  • จัดทำห้องรับรองอาจารย์
  • จัดที่จอดรถให้อาจารย์
  • จัดทำห้องเรียนต้นแบบ (ห้องเรียน BP) 
ที่จอดรถและห้องรับรองอาจารย์ ท่านคงได้อ่านในบันทึกที่ผ่านมาแล้ว ส่วนห้องเรียน BP เสนอดังภาพด้านล่างนี้


ห้องเรียนแบบหลุดโลกนี้ มีเก้าอี้เหมือนโรงหนัง มีไมค์และจอติดทุกตัว มีจอสัมผัสขนาดใหญ่ยักษ์เหมือนอ่านข่าวทีวีสมัยนี้อยู่ด้านหน้า มีระบบคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีระบบตรวจเช็คชื่อที่หน้าประตู ..... ฟังดูแล้วหรูสุดๆ ไปเลยครับ แต่จะเป็นห้องเรียนไฮเทค "ช่วยสอน" หรือ "ช่วยเรียน" ก็ต้องขึ้นกับกิจกรรมการเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอนอีกที

ปิดวง กล่าวคนละครึ่งนาทีว่า ได้เรียนรู้หรือประทับใจอะไรในสัมมนาครั้งนี้ 


โดยรวมแล้วผมคิดว่าทุกคนมีความสุข ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในบรรยากาศสบายๆ ไม่ "วิชาการ" เกินไป (แต่ความจริง มีคนบอกว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างวิชาการมากๆ) ผมเองประทับใจที่มีส่วนทำให้เกิดกิจกรรมผ่อนคลายดีๆ แบบนี้บ้าง แม้บางอย่างอาจไม่ประทับใจ ต่อไปก็จะปรับปรุงให้ดีกว่านี้ ...



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"