PLC_CADL_036 : วางวิธีปฏิบัติ "จัดการกับปัญหา" (๓) "คลีนิค GE"

ในเวทีสัมมนากลุ่มงานวิชาการที่เขื่อนลำปาว กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาก มีข้อเสนอแนะจากบุคลากร เพื่อจะสร้างความประทับใจให้ผู้บริการ ในที่นี้คือนิสิตและอาจารย์ผู้สอน สำหรับคณาจารย์ อยากจะทำห้องรับรองอาจารย์ผู้สอน และสำหรับนิสิตคือ "คลีนิค GE" อ่านสรุปข้อเสนอแนะได้ที่นี่

ตามที่ได้ "ฟัง" ความคิดรวบยอดนี้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะจัดการปัญหาที่นิสิตขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในเรื่องการลงทะเบียน ซึ่งส่งผลให้จำนวนนิสิตที่ "walk in" มีจำนวนมาก เรียกกันว่า "ช่วง Peak" ๒ สัปดาห์ช่วงต้นภาคเรียน KM-กลุ่มงานวิชาการจึงเสนอว่า ควรจะมี "หมอ" มารักษาอาการป่วยนี้ จึงต้องมี "คลีนิค GE"

กลุ่มย่อยที่ ๓ ในการ KM-รวมกลุ่มงาน (วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗) เป็นการระดมสมองของกลุ่มงานวิชาการโดยไม่มีบุคลากรจากกลุ่มงานอื่นไปร่วม ซึ่งความจริงก็ไม่แปลกนัก เพราะงานวิชาการเป็นงานหลักที่ทุกฝ่ายต้องให้การสนับสนุน  ดังนั้นหาก "GE คลีนิค" มีแผนการที่ชัดเจน ผู้บริหารก็เพียงสั่งการ สั่งซื้อ สั่งงาน ตามเสนอเท่านั้น  ผลสรุปแสดงดังภาพนี้ครับ
  • มีการกำหนดเวลาปิดเปิดชัดเจน อาทิตย์ละ ๔ ช่วงเวลาๆ ละ ๒ ชั่วโมง  สาเหตุที่กำหนดแบบนี้ เพราะต้องการให้สอดคล้องและพอดีกับ จำนวนบุคลากรของงานวิชาการและตารางเวลาของแต่ละคน 
  • และกำหนดให้นิสิตนัดหมายออนไลน์ เหมือนกับนัด "หมอ" ไม่ต้องมารอเสียเวลา 
  • มีการคุยถึงการนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามออนไลน์ มาแบ่งหมวดหมู่จัดประเภท เพื่อใช้ในการพิจารณาว่า "หมอ" ควรจะเป็นใคร "จะได้รักษาได้ถูกโรค"....  คิดละเอียดมาก
  • จ้างนิสิตช่วยงานมาอยู่ประจำ "คลีนิค" ๑ คน โดยจะให้มีหน้าที่ ช่วยกดบัตรคิว คัดกรองผู้มารับบริการ และแนะนำเอกสารที่เกี่ยวข้อง







สังเกตว่า ความคิดรวบยอดของ "คลีนิค GE" เป็นการ "เข้าไปช่วย"คือ "ให้บริการ" ส่วนสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ "ผู้ให้บริการ" ซึ่งมีเป้าหมายที่จะ "ให้"  นิสิตช่วยงานเองก็จะมาช่วยกดบัตรคิว และกลั่นกรองผู้มารับบริการ ก็ยังเป็นมิติของการ "ช่วย" และ "ทำให้" ซึ่งตรงนี้น่าจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนัก

ผมเสนอว่า "GE คลีนิค" ควรทำหน้าที่หลักๆ ๓ ประการ ได้แก่ เป็นแหล่งจัดการงานทะเบียนด้วยตนเอง เป็นแหล่งเรียนรู้ และสุดท้ายคือ เป็น "คลีนิค"
  • เป็นแหลังจัดการงานทะเบียนด้วยตนเองได้  หมายถึง ต้องมีคอมพิวเตอร์-อินเตอร์เน็ตพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้นิสิตสามารถลงทะเบียนผ่านระบบด้วยตนเอง โดยพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปแบบ Wizard (วิชาร์ด) ที่สามารถนำข้อมูลความต้องการของนิสิต ไปประมวลผลแล้วเสนอทางเลือกเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งความจริงนิสิตสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตที่ใดก็ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มาที่นี่ จะมีนิสิตช่วยงานคอยแนะนำเป็น "โค๊ช" ช่วยแนะนำบ้าง ... แต่เน้นว่าต้องให้ได้เรียนรู้ด้วยตนเองพอสมควร  กล่าวคือ ต้องให้ "นิสิตเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้"
  • เป็นแหล่งเรียนรู้ หมายถึง นิสิตจะสามารถได้เรียนรู้ภาพรวมทั้งหมดของ "รายวิชาศึกษาทั่วไป" ทั้งตั้งแต่ ปรัชญา รายวิชา  โดยเน้นการจัดสื่อ หนังสือ สื่อการเรียนการสอน วีดีทัศน์ หนังภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดทั้งบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งด้วยตนเองจากการอ่าน ค้น และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม อภิปราย หรือมาจัดกิจกรรมได้ เป็นต้น
  • การเป็น "คลีนิค" ก็เป็นไปตามแนวคิดที่ทางบุคลากรเสนอแล้วข้างต้น 
ผมอาจจะคิดมากไปแล้ว ....  สิ่งที่ต้อง "ระวัง"ที่สุดในชีวิตการทำงานของผมตอนนี้ คือ  "คิดให้คนอื่นทำ" เพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาบอกผมว่า มันไม่ได้ผล และคนทำก็ไม่มีความสุขด้วย .... ดังนั้น ถือว่าข้อเสนอแนะชวนคิดนะครับ




ดูรูปทั้งหมดที่นี่ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"