CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_06: ความคิดรวบยอด โครงการเด็กดีมีที่เรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การตระหนักถึงปัญหาของสังคมและการศึกษาไทยในปัจจุบันของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ทำให้เกิดศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (CADL)ขึ้น ตามหลักการและเหตุผล ดังที่ได้เรียนไว้ในบันทึกนี้ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการทำงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งภายนอก (ติดตามที่นี่) และภายในมหาวิทยาลัย  โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้าง "LLEN มหาสารคาม"

การขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษาสู่ภายในมหาวิทยาลัย CADL ยังไม่ได้ "เริ่มวิ่ง" อย่างเต็มกำลังจริงๆ ที่ทำได้ บันทึกนี้จะเล่าถึงความคิดรวบยอดของการขับเคลื่อนฯ สู่ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจ กับผู้อ่าน ซึ่งจะเป็นเครือข่ายพันธมิตรกัน ในการนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้พัฒนาคนผ่านการศึกษา อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชาติไทยต่อไป

โครงการเด็กดีมีที่เรียน มีวัตถุประสงค์หลักคือการเปิดโอกาสให้ "เด็กดี" ได้เข้ามาเรียนต่อในสถาบันในอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมหลายแห่ง  สำหรับ มมส. มีนิสิตที่เข้าศึกษาต่อในโครงการนี้ปีละประมาณ ๕๐ คน ทั้งๆ ที่ได้ "โคต้า" จากสาขาวิชาปีละประมาณ ๒๐๐ ที่นั่งเรียน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ

CADL ที่สังกัดสำนักศึกษาทั่วไป ภายใต้นโยบายของ มมส. ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษาในเขตพื้นที่อีสานตอนบน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ทำให้เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบผ่านโครงการเด็กดีมีที่เรียน โดยส่งเสริมให้ "เด็กดี" (ผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง") เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานิสิตในมหาวิทยาลัยให้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน ให้ "เด็กดี" เข้ามาขยายผลอย่างเป็นขั้นตอนในมหาวิทยาลัย

ความคิดรวบยอดของโครงการเด็กดีมีที่เรียน

โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ กำหนดไว้ ๓ กลุ่มได้แก่
  • ๑) โรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตจังหวัดมหาสารคาม  เพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง 
  • ๒) โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกโรงเรียนในภาคอีสาน เพื่อคัดเลือก "เด็กดี" มีอุปนิสัย "พอเพียง" มาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนฯ ในมหาวิทยาลัย 
  • ๓) โรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนฯ สู่การเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนฯ กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
แนวทางในการคัดเลือกนักเรียนเป็นนิสิตใหม่ในโครงการฯ จะเน้นว่าเป็น "คนดี" "เด็กดี" มีอุปนิสัย "พอเพียง" และพิจารณาจากผลงานหรือกิจกรรมเด่น เช่น โครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชน โครงงานเรียนรู้เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ปัญหาพัฒนาปัญหาสังคม ฯลฯ โดยต้องผ่านการคัดเลือกจากกรรมการจากคณะวิชา/สาขา เป็นสำคัญด้วย  โดยมีข้อตกลงกันในเบื้องต้นต่อไปนี้
  • ๑) นิสิตต้องรักษา "ความดี" และฝึกฝนตนเองเป็นนักเรียนแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา ในมหาวิทยาลัย
  • ๒) ต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ และกิจกรรมจิตอาสา พัฒนาท้องถิ่นและชุมชน เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำอย่างต่อเนื่อง
  • ๓) พฤติกรรมของนิสิตทั้งด้านดี เช่น ประพฤติดี มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับตนเอง หรือด้านไม่ดีต่างๆ จะมีผลต่อชื่อเสียงและโควต้าการรับนักเรียนจากโรงเรียนของตน






เมื่อ "เด็กดี" เข้ามาเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัย สำนักศึกษาทั่วไป โดย CADL จะเป็นผู้จัดกิจกรรมพัฒนานิสิตเสริมเพิ่มเติมจากกิจกรรมปกติที่จัดโดยคณะวิชา เพื่อปลูกฝังให้ได้ "นิสิตดี" และส่งเสริมให้ "นิสิตดี" มีโอกาสได้กลับไปเรียนรู้ในท้องถิ่น หรือจากสถานการณ์จริง ปัญหาจริงๆ เพื่อฝึกฝนให้เป็น "นิสิตดี มีอุดมการณ์"  ก่อนจะผ่านออกไปเป็น "บัณฑิตดี" ที่มีอุดมการณ์ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"

หลักสูตร ปศพพ. ในมหาวิทยาลัย

แนวคิดผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ที่ให้นโยบายมาแล้ว และผมเองในฐานะ ผู้ปฏิบัติ ได้เริ่มเรียนรู้ เรียนลัดจากตัวอย่างต่างๆ บ้างแล้ว  ว่า ทำอย่างไรจะสามารถสร้างหลักสูตรที่เรียนรู้และปฎิบัติตามหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังทั้งหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทำได้ ทำเป็น เห็นผล และขยายผลได้ไปสู่ผู้อื่น  โดยท่านให้กรอบการปฏิบัติคร่าวๆ มาดังนี้
  • รับนิสิตในหลักสูตรปีละ ๒๐ คน ...  ผมมีแนวคิดว่า ควรกำหนดให้เป็นนักเรียนจากโครงการเด็กดีมีที่เรียนเท่านั้น
  • มหาวิทยาลัยสนับสนุนค่าเล่าเรียน จัดที่พักอาศัยในมหาวิทยาลัยให้ 
  • มูลนิธิ หรือ หน่วยงานภาคีเครือข่าย หรือผู้สนับสนุนจากเอกชน หรืออื่นๆ สนับสนุนค่าอาหารประจำเดือน 
  • อาจารย์ผู้สอนมาจากหลากหลายคณะวิชาตามความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ 
  • กำหนดว่า นิสิตที่จบจากหลักสูตรนี้ จะต้องทำงานอยู่ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ของตนเอง ตามระยะเวลาที่กำหนดตกลงกัน
ปัจจุบันอยู่ในขั้นการศึกษาแนวทางการจัดทำหลักสูตร และหาความร่วมมือจากมูลนิธิ หรือหน่วยงานต่างๆ

หากสำเร็จ เราจะสามารถสร้าง พลเมืองที่มีอุปนิสัย "พอเพียง" ต้นแบบ และเป็น"ต้นทาง" ที่จะประสานเสริมส่งให้ประชาชนรู้และเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ทั่วถึงเร็วขึ้น

ท่านผู้อ่านว่าอย่างไร โปรดให้คำชี้แนะด้วยครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"