แนะนำสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำหรับนิสิตใหม่ ๒๕๕๗ (๑)

สวัสดีครับ นิสิตใหม่  ยินดีต้อนรับเข้าสู่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ๆ เราจะมาร่วมกันหล่อหลอมฝึกฝนทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนหมวดรายวิชาศึกษาทั้่วไป อย่างน้อย ๓๐ หน่วยกิต ซึ่งกำหนดไว้ในทุกหลักสูตร ทุกสาขาวิชา ก่อนสำเร็จการศึกษา เป็นผู้มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ ใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์ของมหาชนต่อไป  ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปคนหนึ่ง อยากจะใช้บันทึกนี้สื่อสารทำความเข้าใจใน ๓ ประเด็น ได้แก่ ๑)ทำไมต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ๒)การจัดการเรียนการสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยเราเป็นอย่างไร และ ๓)การให้บริการและอำนวยความสะดวกในบางกรณีที่นิสิตควรจะรู้ ดังนี้



๑) ทำไมต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป 

เพราะว่า....

ทุกหลักสูตรในระดับปริญญาตรีทุกคณะ/สาขาวิชา จะต้องจัดให้นิสิตทุกคนได้เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปตาม "เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร" ซึ่งประกาศใช้ตามหลักการและแนวทางการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษา มาตราที่ ๒๒-๒๓ เพื่อพัฒนาบัณฑิตไทยให้มีคุณลักษณะที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๖ คือเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สิติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดที่ ๓ ส่วนที่ ๘ มาตราที่ ๔๙ ที่กำหนดสิทธิเสรีภาพด้านการศึกษาของคนไทยไว้อย่างชัดเจน

ตอบแบบนี้อาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ การศึกษาไทย? หรือ ถามว่า ทำไมต้องมีกฎหมายเหล่านี้ ?  ก็เพื่อจะพัฒนาให้บัณฑิตเป็นคนดี มีคุณธรรม สามารถนำความรู้ สติปัญญา ไปใช้ในการดำเนินชีวิต ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นกำลังในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติให้รุ่งเรืองต่อไป

แล้วกฎหมายว่าอย่างไร...?

ัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (หมวด ๓ ส่วนที่ ๘ มาตราที่ ๔๙) กำหนดคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยในการเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยรัฐต้องจัดให้ฟรีอย่างน้อย ๑๒ ปี และส่งเสริมอย่างเหมาะสตลอดชีวิต  โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษา ให้เป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (ซึ่งกำหนดไว้ใน มาตรา ๖ ของ พ.ร.บ. การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๒)

กฎหมาย(มาตรา ๗ ของ พ.ร.บ. การศึกษา ๒๕๔๒)บอกว่า ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

โดยกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ในาตรา ๒๒ ว่า การจัดการศึกษาต้องถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด และยึดหลักการว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ โดยกระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ และมาตรา ๒๓ ว่าต้องเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของระดับการศึกษาไว้ ๕ ขั้นตอน ได้แก่
     ๑) ความรู้เกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
     ๒) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน 
     ๓) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
     ๔) ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง 
     ๕) ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข


การจัดการศึกษาตาม "เป้าหมาย หลักการ และแนวทาง" ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กระทรวงศึกษาธิการจึงมีการประกาศใช้ "หลักสูตรแกนกลาง ปี ๒๕๔๔ (และปรับปรุง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑)" สำหรับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ประกาศ "เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปี พ.ศ. ๒๕๔๘" ในระดับอุดมศึกษา และกำหนดให้โครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี มีองค์ประกอบ ๓ หมวด ได้แก่ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี โดยให้ความหมายของหมวดรายวิชาว่า


"หมวดวิชาศึกษาทั่วไป  หมายถึง  วิชาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง  มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล  มีความเข้าใจธรรมชาติ  ตนเอง  ผู้อื่น  และสังคม  เป็นผู้ใฝ่รู้  สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี  มีคุณธรรม  ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ  สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี"


"หมวดวิชาเฉพาะ  หมายถึง  วิชาแกน  วิชาเฉพาะด้าน  วิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพ  ที่มุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้  ความเข้าใจ  และปฏิบัติงานได้"


"หมวดวิชาเลือกเสรี  หมายถึง  วิชาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้  ความเข้าใจ  ตามที่ตนเองถนัดหรือสนใจ  โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใด ๆ  ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี"

สังเกตว่า "เป้าหมาย หลักการ และแนวทาง" ตามกฎหมายข้างต้น บรรจุไว้ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเป็นส่วนใหญ่  รายวิชาศึกษาทั่วไป จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคนไทย ห้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้ได้คนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทังร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

สรุปว่า สาเหตุที่เราต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ก็เพราะว่า....

เราต้องการปลูกฝังและพัฒนาพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีของไทย ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง  มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล  มีความเข้าใจธรรมชาติ  ตนเอง  ผู้อื่น  และสังคม  เป็นผู้ใฝ่รู้  สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี  และคุณธรรม  มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ  สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

๒) การจัดการเรียนการสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยเราเป็นอย่างไร

สำนักศึกษาทั่วไปมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งกำหนดให้นิสิตระดับปริญญาตรีทุกคนจะต้องลงทะเบียนเรียนในรายวิชาศึกษา ทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต เพื่อพัฒนานิสิตสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งเสริมการสร้างบัณฑิตที่ "เข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" มีควมรอบรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม และรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก


สำนักงานศึกษาทั่วไป ตั้งอยู่ ณ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะวิชา มีคณะกรรมการบริหารสำนักศึกษาทั่วไปซึ่งเป็นผู้บริหารจากคณะวิชาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กำกับและติดตามนโยบาย มีผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มงานหลัก ได้แก่ ๑) กลุ่มงานวิชาการและประเมินผล ดูแลระบบและกลไกในการจัดการเรียนการสอน งานพัฒนาหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป งานการลงทะเบียนเรียน งานตารางเรียนตารางสอบ งานวิเคราะห์ข้อสอบ และงานประเมินผล แต่ละภาคการศึกษาจะรองรับนิสิตลงทะเบียนเรียนถึง ๘๐,๐๐๐ ที่นั่ง ต่อภาคการศึกษา ๒) กลุ่มงานสารสนเทศ ดูแลห้องเรียนรวม ๕๒ ห้องเรียน ที่กระจายอยู่ตามอาคารเรียนของคณะวิชาต่างๆ ให้มีความพร้อมทั้งด้านสื่อสารสนเทศ และอุปกรณ์โสตทัศนะช่วยการเรียนรู้ในห้องเรียน และดูแลความสะอาดและความปลอดภัย รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ๓) กลุ่มงานบริหารและยุทธศาสตร์ ดำเนินการแปลงนโยบายสู่แผนการปฏิบัติราชการอย่างมีส่วนร่วม และสนับสนุนทั้งสองกลุ่มงานข้างต้นทั้งเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณ ตลอดทั้งรับผิดชอบกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการโดยใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาทั้งการประกันภายในและประกันภายนอก











ปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๕๗) มหาวิทยาลัยมหาสาตคาม ใช้หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ฉบับปรับปรุง  พ.ศ. ๒๕๕๔ มีรายวิชาทั้งสิ้น ๑๑๓ รายวิชา แบ่งออกเป็น ๖ กลุ่มวิชา จาก ๕ กลุ่มสาขาวิชาได้แก่ กลุ่มภาษาอังกฤษ กลุ่มภาษาไทย กลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ อีก ๑ กลุ่มวิชาเพื่อส่งเสริมการบูรณาการระหว่างสาขาวิชา คือ กลุ่มสหศาสตร์ โดยอาจารย์ผู้สอนเป็น คณาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนทั้งสิ้น ๒๕๒ ท่าน





นิสิตใหม่ จำเป็นต้องทำความเข้าใจใน ๕ เรื่องต่อไปนี้ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเรียบร้อย ได้แก่

     ๑) การเตรียมตัวก่อนการลงทะเบียนเรียน
     ๒) การลงทะเบียนเรียน
     ๓) การเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป
     ๔) การทดสอบประเมินผลการเรียน
     ๕) การประกาศและติดตามผลการเรียน


   บันทึกต่อไปจะมาให้รายละเอียดต่อนะครับ                          

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"