PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๖ : กระบวนการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ครูสอนภาษาอังกฤษ (มองครู)

บันทึก (๑) "มองเด็ก"

การ "มองเด็ก" ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการระดมปัญหา ขั้นตอนต่อมาเราเรียกว่า "มองครู" เพื่อให้ครูหันกลับมามองที่ตนเอง ระลึกถึงความสำเร็จและได้ภาคภูมิใจในตัวท่านเอง ก่อนจะแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันด้วยกิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง (story telling) และร่วมกันระดมสมองหาแนวทางแก้ไขปัญหา และปิดท้ายด้วยการนำเสนอต่อเพื่อนครูในช่วง Show & Share ด้วยกิจกรรมตลาดนัดความรู้

สุนทรียสนทนา (Dialogue)

หัวใจของการเรียนรู้ในวง PLC คือการฟัง และต้องเป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ซึ่งหากจะคุยและฝึกกันเรื่องนี้ต้องใช้กระบวนวิธีทางจิตตปัญญาศึกษามาใช้ (ผมเคยถอดบทเรียนไว้ที่นี่) การนำมาใช้เบื้องต้นที่สุดคือ ทำให้คุณครูทุกท่านหันมาอยู่กับตนเองด้วยการนั่งหลับตาพาใจให้สงบ ตามแต่ท่านจะถนัด อาจเป็นลมหายใจ ท้องพองยุบ บริกรรมพุทโธ ฯลฯ สัก ๒ นาที จากนั้นใช้คำพูดพาแต่ละท่านระลึกย้อนไปค้นหาความสำเร็จและความภาคภูมิใจในชีวิตความเป็นครู  พาให้เลือกประสบการณ์ที่สำเร็จหรือแนวปฏิบัติที่ดีที่อยากจะเล่าแบ่งปันบอกต่อ แล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้น และเริ่มการสนทนากัน โดยมีเงื่อนไขให้คุยท่านละ ๒ นาที และทุกท่านต้องได้เล่าเรื่อง ... หากผู้อ่านเป็นคุณครูที่อยู่ในวง PLC วันนั้น ผมมั่นใจว่าท่านจะระลึกได้ว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไรจากเพื่อนบ้าง

เลือกปัญหาอย่างไรในการทำ PLC

หลังจากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ภูมิใจรายท่าน กิจกรรมต่อไปเป็นรายกลุ่ม ให้แต่กลุ่มเลือกเอาปัญหามาระดมสมองหาวิธีแก้ไข โดยใช้ประสบการณ์ร่วมที่ได้แลกเปลี่ยนกัน อาจารย์สาวิตรี(ผู้เชี่ยวชาญ) ท่านเน้นย้ำว่า ต้องเป็นปัญหาที่จริงจัง ตั้งใจจะนำไปแก้ไขจริง ๆ  และต้องเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้โดยตนเอง หรือไม่ก็ภายในโรงเรียน หรืออาจขอการสนับสนุนจาก อบจ. ขอนแก่น

ขอเสนอหลักในการเลือกปัญหานักเรียน เพื่อนำมาทำ PLC ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ปฏิบัติได้ ๒) เป็น "เหตุ" ของปัญหา ไม่ใช่ "ผล"  และ ๓) เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันเป็นทีมจึงจะสำเร็จ แก้คนเดียวไม่ได้

ขอชื่นชมผลงานของหลายกลุ่มที่เลือกปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขได้อย่างแยบยล อันเป็นผลทำให้เกิด PLC ย่อยกำลังขับเคลื่อนกันภายใน  แต่บางกลุ่มที่ยังระดมสมองได้ยังไม่ "คักใจ" ก็อยากให้เปิดใจเรียนรู้จากกลุ่มอื่นครับ ... ปัญหาของนักเรียนแก้ไขได้ด้วยครูที่อยู่ดูแลใส่ใจในโรงเรียนเท่านั้น

เด็กไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ

กลุ่มที่ ๘ ได้คะแนนนิยมสูงสุดถึง ๓๒ บาท ในการงานตลาดนัดความรู้ที่เราจัดขึ้น ท่านนำเสนอได้อย่างมีพลังสุด ๆ  และสรุปหลักการการแก้ปัญหานักเรียนไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษไว้ชัดเจน ดังนี้


  • ครูต้องพูดภาษาอังกฤษในห้องเรียน  ครูต้องเป็นอย่าง 
  • ใช้ศัทพ์ที่ง่ายและใกล้ตัว (พบบ่อย) ศัพท์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง  ใช้สื่อการสอนที่น่าสนใจ
  • ครูต้งอสร้างสถานการณ์ (ออกแบบการเรียนรู้) ให้นักเรียนได้ฝึกพูดภาษาอย่างต่อเนื่องและสนุุกสนาน
  • ทำให้นักเรียนมีเป้าหมายในการเรียน ... ผมคิดว่าข้อนี้สำคัญที่สุดครับ  (เหมือนกับที่อาจารย์กรรณิการณืท่านทำสำเร็จ อ่านที่นี่ครับ)
13 วิธีแก้ปัญหาการไม่ได้ศัพท์ (Vocabulary)


แม้จะได้ขายในตลาดนัดความรู้ได้น้อย แต่เมื่อมาศึกษาดู พบว่าข้อสรุปวิธีการแก้ปัญหาด้วยเทคนิค ๑๓ ประการนี้มีคุณค่าน่าสนใจยิ่งครับ เพียงแต่ผู้อ่านอาจจะไม่เข้าใจว่าแต่ละกิจกรรมนั้นทำอย่างไร ขอเสนอให้ท่าน ศน.กันยารัตน์ เอื้อให้เกิด PLC จัดทำสื่อและอบรมแลกเปลี่ยนกันและกันเกี่ยวกับ ๑๓ วิธีนี้ครับ ... ผมชอบมาก จึงขอนำมาวาดรูปไว้ขยายผลกันต่อครับ


ไม่เฉพาะกลุ่มนี้ที่เลือกแก้ปัญหาเรื่องนักเรียนไม่ได้ศัพท์ ยังมีอีก ๒ กลุ่ม ที่บอกขั้นตอนเพิ่มศัพท์ให้นักเรียนด้วยเกม ๕ ขั้นตอน ดังรูปด้านล่างครับ





  •  ที่น่าสนใจคือ การนำเอา Application ในมือถือ ชื่อ Thai Fast... มาใช้ให้นักเรียนค้นศัพท์ 



ปัญหาที่ครูไม่สื่อสารภาษาอังกฤษกับเด็ก

อาจารย์ชาวต่างชาติชาวแคมมารูน คุณครูอาใน (ไม่ใช่มโน และไม่ใช่ นโม) เน้นย้ำเรื่องนี้มาก ๆ (สังเกตจากคำพูดตอนท่านนำเสนอ) ท่านเน้นไปถึงปัญหาที่เด็กกลัวการพูดภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Afriad to speak... และไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษ และดูเหมือนว่ากลุ่มนี้จะเสนอให้ครูพูดภาษาอังกฤษกับนักเรียน เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด

แน่นอนว่า การพูดภาษาอังกฤษเฉพาะกับครูภาษาอังกฤษ คงไม่สามารถจะแก้ไขหรือพัฒนาให้นักเรียนกล้าพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะหากทำได้ โรงเรียนที่คุณครูอาโนสอนอยู่ต้องทำสำเร็จแล้ว เพราะท่านใช้ภาษาอังกฤษกับเด็กตลอด (แม้ว่าท่านจะใช้ภาษาไทยได้คล่อง) เรากำลังหมายถึงการพูดภาษาอังกฤษกันทั้งโรงเรียน

กลุ่มนี้เสนอได้ดีมากว่าควรจะเริ่มอบรมพัฒนาครูทั้งโรงเรียนให้เริ่มพูดภาษาอังกฤษกับเด็กอย่างไร ดังที่แสดงในกระดาษคลิปชาร์ท ดังนี้

  • ใช้ในการทักทายทุกครั้ง
  • ใช้ในการสั่งงาน ประโยคคำสั่งต่าง ๆ
  • ติดป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ และจัดทำบัตรคำศัพท์
  • เสนอคำศัพท์ใหม่ ๆ ในกิจกรรมหน้าเสาธง ... ผมเห็นโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียนทำแบบนี้ ผมคิดว่าได้ผลน้อยมาก คนที่ได้เรียนรู้คือนักเรียนผู้ได้รับมอบหมายประจำวันเท่านั้น  น่าจะปรับกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนได้กระตือรือร้น ทุกคนได้เตรียมพร้อม ตลอดสำหรับการนำเสนอหน้าเสาธง  เช่น 
    • จัดทำบัตรคำศัพท์ขนาดเล็ก แจกให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคน หน้าประตูโรงเรียน 
    • นักเรียนค้นหาความหมายและตัวอย่างประโยคของคำศัพท์ที่ตนได้รับ 
    • ครูสุ่มเลือกด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ให้จับฉลาก ฯลฯ ให้ขึ้นมานำเสนอ 
    • ฯลฯ
  • ฯลฯ

ปัญหาเด็กไม่ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

นี่คือปัญหาที่คุณครูสะท้อนมามากที่สุดในช่วง "มองเด็ก"


หากเทียบเคียงกับวิธีการวิเคราะห์ปัญหาด้วยภูเขาน้ำแข็ง ดูรูป ปัญหานี้มีรากฝังลึกมาก นักเรียนขาดความตระหนัก ขาดแรงจูงใจ ขาดแรงบันดาลใจ ไม่สนุก ไม่มีความสุขดในการเรียน


ลองพิจารณาวิธีที่คุณครูเสนอมาจะเป็นดังรูป


ข้อสังเกตที่สำคัญคือ  วิธีที่คุณครูนำเสนอมา เกือบทั้งหมดจะอยู่ในระดับ "พัฒนาทักษะ" มีเพียงการพูดชมเชยให้กำลังใจเท่านั้น ที่อยู่ในระดับที่จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้  ดังนั้นสิ่งที่ต้องเน้นในการทำ PLC ครั้งต่อไปคือ วิธีการและเทคนิคการปรับพฤติกรรม ด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงบวก

... อย่างไรก็ดี กิจกรรมหรือวิธีการจะดีเพียงใดก็อาจไม่ได้ผล ในทางกลับกัน แม้ไม่ต้องมีวิธีดี ๆ จากผู้รู้ท่านใด ท่านก็สามารถแก้ัญหานักเรียนได้ ถ้ามี ความรัก เมตตา ห่วงใย และเอาใจใส่ต่อนักเรียน

ยังเหลืออีกหนึ่งโมเดลของกลุ่มอาจารย์จิตตวีร์ ซึ่งกำลังจะจัด PLC ขยายผลเร็ว ๆ นี้  ตั้งใจว่าจะถอดบทเรียนไว้ในบันทึกต่างหากครับ ...

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ทุกท่านครับ เขาทุกคนคือลูกหลานเราครับ
ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ทุกท่านครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"