PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ทีม CADL ไปช่วยทีมขับเคลื่อนการศึกษาของ อบจ.ขอนแก่น ทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (PLC) ณ โรงแรมมันตราวารี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มเป้าหมายเป็นคุณครูภาษาไทยประมาณ ๓๐ ท่านจากโรงเรียนในสังกัด อบจ.ขอนแก่น ที่เกาะติดแก้ปัญหาอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องของนักเรียนชั้นมัธยมต้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวทีแรก (อ่านที่นี่) และเวทีที่สอง (อ่านได้ที่นี่)  หลังจากผ่านมาเกือบ ๒ ปี วันนี้ทีมท่าน ศน.เทวา จัดเวทีถอดบทเรียน เพื่อนำไปขยายผลต่อไป

กระบวนการไร้รูปแบบ

โดยส่วนตัว ผมประทับใจวิธีการทำงานของทีมงานของ อบจ. อย่างยิ่ง เป็นมืออาชีพแต่ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้เสียเวลา เมื่อคุณครูมาพร้อมกันก็เริ่มลุยกันเลย 

เราออกแบบกิจกรรมถอดบทเรียนเป็น ๓ ตอน ได้แก่ ๑) BAR ด้วยการตั้งคำถามว่า "ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?" ก่อนจะให้ระลึกถึงสิ่งที่ภูมิใจจากผลสำเร็จ ๒) ถอดกระบวนการหรือวิธีการของความสำเร็จนั้น เพื่อให้ได้ "บทเรียน" เชิงกระบวนการ ที่ผู้อ่านผู้ฟังสามารถจะนำไปทำบ้างหากสนใจ ๓) โชว์แอนด์แชร์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ... บันทึกนี้ตั้งใจจะนำเอาองค์ความรู้จากการปฏิบัติ หรือที่เรียก "ปัญญาปฏิบัติ" มาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน เผื่อเป็นประโยชน์ในกาลต่อไป 

ผมสังเกตว่า คุณครูมีศรัทธาต่อการนำพาของทีมขับเคลื่อนของ อบจ. และคุณครูรู้จักมักคุ้นกันระหว่างโรงเรียน เป็นกันเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และชื่นชมกันระหว่างโรงเรียน สะท้อนถึงความสำเร็จของการทำเวที PLC และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 

ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?

เครื่องมือของขั้นตอนนี้คือคำถาม ถามว่า ถอดบทเรียนแล้วได้อะไร?  คำตอบไม่มีผิดถูกตายตัว แต่สามารถสรุปลงที่ ถอดบทเรียนต้องได้ "บทเรียน"  บทเรียนอันเกิดจากประสบการณ์ของครูผู้ปฏิบัติ เรียกว่า ถอดบทเรียนคือการถอดประสบการณ์ก็เข้าใจง่ายดี การถอดบทเรียนจะทำให้ได้องค์ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ ที่นักจัดการความรู้เรียกว่า "ปัญญาปฏิบัติ" ก็อันเดียวกัน

วิธีการการหนึ่งในการอธิบายความหมายของการถอดบทเรียน คือ การวาดรูปการเปลี่ยนความรู้ฝังลึกในตัวคน (Tacit Knowledge) รากฐานภูเขาน้ำแข็ง เป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เช่น แนวปฏิบัติ ทฤษฎี กฎ เป็นต้น ที่คนที่ได้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ด้วยตนเองและพัฒนาต่อไป


อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ขับเคลื่อน PLC มาหลายปี พบว่า ไม่มีใครสามารถนำเอา "บทเรียน" ของคนอื่นไปใช้แล้วได้ผล โดยที่คนใช้ไม่ได้ปรับอะไร สิ่งที่พบคือ การนำแนวคิดหรือไอเดียและเครื่องมือไปปรับใช้ สุดท้ายจะเกิดประสบการณ์ใหม่ เคล็ดลับใหม่ ... ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือที่เราเรียกว่า "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" ต่อไปจนกลายเป็น "วิถี" ต่อไป

ผลลัพธ์การถอดบเรียน 

ด้วยกำหนดเวลาตามหลักสูตรเร่งรัด ๑ วัน กระบวนการถอดบทเรียนจะเน้นไปที่ประสบการณ์การปฏิบัติ แก้ปัญหาการอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องของครูรายโรงเรียน และใช้รูปแบบเรขาคณิตมาช่วยเป็นเครื่องมือคิดสร้างขั้นตอนการแก้ปัญหาพัฒนาเป็นโมเดล

ในช่วงกิจกรรม Show&Share เราจัดเป็นตลาดนัดความรู้ และแจกเงินให้กับเพื่อนครูคนละ ๑ บาท แล้วให้เลือกซื้อ "องค์ความรู้" ที่ประทับใจที่สุดจากเพื่อนครูผู้นำเสนอ  มี ๒ กลุ่มที่เสนอโมเดลประทับใจจนขายได้ถึง ๘ บาท  ... ผมวาดเป็นภาพได้ดังรูป


ผมส่งรูปภาพนี้ให้เจ้าของโมเดล และชวนให้ทีมอาจารย์จากโรงเรียนนางิ้ววิทยาสรรค์เขียนอธิบายด้วยตนเอง ... ท่านผู้อ่านที่สนใจโปรดอดใจรอสักไม่นาน


ผมชอบโมเดลนี้มากเพราะเห็นที่พ้องกับหลักคิด ๓ ห่วงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  และยังสอดคล้องเชื่อมโยงได้กับแต่ละห่วงด้วย เช่น

  • เพื่อนหรือพี่ คือคีย์ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของโมเดลการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยกระบวนการนักเรียนจิตอาสา (ครูตุ๋มศิริลักษณ์ ชมภูคำ) ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จและสร้างเด็กดีได้ ฉันใดก็คล้ายกัน เป็นการเหมาะสม "เหตุผล" อย่างยิ่ง 
  • แบบฝึก เป็นเหมือนคู่มือและเครื่องมือ ที่จะนำวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้อง "พอประมาณ"
  • ครู  ในกรณีการแก้ปัญหาของนักเรียน ครูคือผู้เป็น "ภูมิคุ้มกัน" ของทุกก้าวย่างไปสู่ความสำเร็จของนักเรียน 
เช่นเดียวกัน .... ผมส่งภาพนี้ให้ครูโรงเรียนเสมาวิทยาเสริมและโรงเรียนบ้านคูขาด (สถิตย์อุปถัมภ์)  มีโอกาสจะไปอธิบายให้ท่านผู้สนใจอ่าน 


มีโมเดลหนึ่งที่แม้จะไม่ได้ถูกรับซื้อเป็นอันดับต้น ๆ  แต่ท่านอาจารย์กรรณิการ์ จินตภานันท์ ครูเพื่อศิษย์ที่ผมตั้งใจไว้นานแล้วจะถอดบทเรียนประสบการณ์ความสำเร็จท่านมาแบ่งปันครูผู้อ่าน ...  ด้านล่างคือแผนภาพกระบวนการ ๖ ขั้นบันไดที่แทบจะไร้รูปแบบในขั้นปฏิบัติ 


โอกาสหน้าจะมาอธิบายด้วยบันทึกครับ...


โมเดลของโรงเรียนอื่นๆ ก็น่าสนใจ ขอรวบรวมเล่าเป็นภาพเก็บไว้ เผื่อเป็นประโยชน์ในการต่อไป 
















ขอจบบันทึกไว้ตรงนี้ ...ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)