PLC_CADL_021 : อีเมล์เปิดผนึก ถึงผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป
เขียนที่ ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (CADL)
สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
เรียน อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป ประจำภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๖ ที่เคารพ
กระผมในฐานะรอง ผอ. สำนักศึกษาทั่วไป อยากจะชี้แจงเรื่องค่าตอบแทนการสอนบางประการของเทอมนี้ แม้ท่านจะไม่สนใจอยากอ่าน แต่การอธิบายผ่านท่านไปยังอาจารย์ผู้สอน น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
อาจารย์ผู้สอนหลายท่านอาจได้ทำเรื่องขอเบิกค่าสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปแล้ว บางท่านอาจสังเกตเห็นว่า ค่าสอนเทอมนี้ทำไมน้อยกว่าเทอมที่ผ่านมา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเทอมที่ผ่านมา คำตอบมีว่าอย่างนี้ครับ ...
มหาวิทยาลัยใช้ระบบจัดการงบประมาณรายได้ตามจริง แม้จะตั้งงบแบบประมาณการตามจำนวนนิสิต แต่การเบิกจ่ายจริงจะต้องอิงตามจำนวน "รายรับจริง" (ในที่นี้คือ รายได้-ค้างจ่าย) ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนนิสิตที่มาชำระเงินตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ในขณะนี้นิสิตจำนวนประมาณ ๑๐% ไม่ได้ชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้จำนวน "รายรับจริง" ที่ต้องนำไปคำนวณเป็นงบประมาณในหมวดต่างๆ รวมทั้งหมวดค่าตอบแทนการสอน ๓๐ % ลดลง (ดูขั้นตอนการคิดงบประมาณด้านล่าง) ส่งผลให้ค่าตอบแทนการสอนต่อหัวนิสิตลดลงตามจำนวนที่ท่านได้รับแจ้งแล้วนั้น
ขณะนี้ ผอ.สำนักฯ ได้สั่งให้ดำเนินการเลื่อนวัน "ตัดบัญชี" ไปจนถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗ คาดว่าจำนวนค่าตอบแทนต่อหัวคงจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยก็คงไม่น้อยมากครับ...
กระผมวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาระดับประเทศในขณะนี้ อาจเป็นเพราะชาวนาซึ่งเป็นผู้ปกครองส่วนใหญ่ของนิสิตยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือก ส่งผลให้กระทบกับรายจ่ายต่างๆ ในครอบครัว รวมทั้ง "ค่าเทอม" ที่นิสิตค้างจ่ายนี้ด้วย หรืออีกปัญหาหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อ การดำเนินการของกองทุนกู้ยืม กยศ. (ส่วนนี้ไม่ทราบ)
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เหล่านี้ น่าจะเป็นตัวอย่างของความเชื่อมโยงอย่างไม่ควรแยกจากกันระหว่าง ชาวนากับมหาวิทยาลัย ถึงเวลาแล้ว ที่เราควรหันมาสนใจให้ "นิสิตเป็นตัวตั้ง" ผลิต "บัณฑิต" ที่เป็น "คนดี คนเก่ง คนมีความสุข" และ เป็นที่พึ่งให้กับชุมชนและสังคมได้จริงๆ....ผมคิดว่าวิธีนี้เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ฤทธิไกร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น