PLC_CADL_020 : เสนอรูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมได้รับมอบหมายจากท่าน ผศ.ดร.พชรวิทย์ จันทรศิริสิร (ผอ.สำนักศึกษาทั่วไป ) ให้นำเสนอ (ร่าง) แนวทางและทิศทางการพัฒนาการเรียนรู้ของรายวิชาศึกษาทั่วไป ต่อคณะกรรมการบริหารสำนักฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยและจากหลากหลายคณะฯ ....  ผลปรากฎว่า ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยกับแนวทางนี้มาก เหมือนเห็นด้วยในหลักการ ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับนักขับเคลื่อน "คนดี" งานของ GE นี้อาจเป็นประโยชน์ จึงนำมาแลกเปลี่ยนไว้ที่นี่ครับ

รูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้นี้ ผมสังเคราะห์จากการพูดคุยสนทนากับ ผอ.สำนักฯ แบบนับครั้งไม่ถ้วน ท่านมีสไตล์การทำงานที่ผมชื่นชอบ และพยายามจะเลียนแบบ คือ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและเคารพในศักยภาพและคุณค่าของแต่ละคน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายใน หรือที่เราเรียกว่า Transformative Learning  หรือ "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ซึ่งผมเองมีประสบการณ์และหลงไหลกับการพัฒนาการเรียนรู้ในแนวนี้มาหลายปี ผู้สนใจติดตามอ่านบล็อกทาง www.gotoknow.org ของ ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช และของผมเอง (ใช้ชื่อว่า ฤทธิไกร มหาสารคาม) ได้ครับ

หลักการ

หลักการสำคัญ ๔ ประการ ที่ใช้เป็นแนวทางในการร่าง GE_MSU_58 ครั้งนี้ ได้แก่

   ๑) “เรียนชีวิต ไม่ใช่เรียนวิชา สอนคน ไม่ใช่สอนหนังสือ”
   ๒) “สอนน้อย เรียนมาก” ยึดนิสิตเป็นศูนย์กลาง เน้นเรียนมากกว่าเน้นสอน
   ๓)  น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มาพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
   ๔) เป้าหมายคือนิสิตที่ รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ขั้นตอนการสร้างรายวิชาศึกษาทั่วไป

งานวิจัยจากทีมเครือข่ายรายวิชาศึกษาทั่วไป (เผยแพร่บทความวิจัยไว้ที่นี่) บอกว่า การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้นสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ ๑) แบบบังคับร่วม (มี 55% มากที่สุด) คือกำหนดให้นิสิตทุกคณะเรียนเหมือนกันหมด ๒) แบบบังคับกระจาย (18 % น้อยสดุ) คือกำหนดจำนวนหน่วยกิตรวมแต่ให้เลือกเรียน และ ๓) แบบผสม (26%) คือบังคับส่วนหนึ่งให้เลือกเรียนส่วนหนึ่ง ขณะนี้ GE MSU ของเราเป็นแบบผสม ที่กำหนดกำหนดบังคับส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งให้เลือกเรียนตามรายวิชาที่พัฒนาจากอาจารย์ประจำคณะฯ ต่างๆ ....  

โมเดลที่จะเสนอต่อไปนี้เป็นแบบที่ ๑) ซึ่งใช้กระบวนการคล้าย Backward Design ที่กำหนดเป้าหมายและวิธีการประเมินก่อน แล้วสร้างรายวิชา และสรรหาผู้สอนทีหลัง มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้




ขั้นที่ ๑) กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนิสิตรายวิชาศึกษาทั่วไป คำถามสำคัญคือ เมื่อนิสิตมาเรียนวิชาศึกษาทั่วไป ครบทั้ง ๓๐ หน่วยกิตแล้ว นิสิตจะมีความรู้และทักษะ อะไรบ้าง มีเจตคติอย่างไร  ซึ่งต้องสอดคล้องกับปรัชญาของศึกษาทั่วไปของ มมส. ที่เรายึดเอาเป็นเป้าหมายว่า นิสิตจะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แน่ชัดถือเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำ 


ขั้นที่ ๒) ยึดหลัก "เรียนชีวิต ไม่ใช่เรียนวิชา" อาจารย์ผู้สอนก็ต้องมองว่า "สอนคน ไม่ใช่สอนหนังสือ"
โดยสิ่งสำคัญคือ "บริบท" หรือ "ปัญหาชีวิตจริงๆ" ไม่ใช่การแยกส่วนเป็นสาขาวิชาที่ให้แต่ละคณะสร้างขึ้นมา แต่เป็นการบูรณาการทรัพยากรอาจารย์จากสาขาวิชาหรือคณะต่างๆ มาร่วมกันคิดว่า จะ "คุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ" ที่กำหนดขึ้นนั้น อาจารย์แต่ละท่านหรือแต่ละสาขาวิชาจะสามารถพัฒนาใหนิสิตมีคุณลักษณะแบบที่กำหนดนั้นได้อย่างไร อะไรบ้าง 

ขั้นที่ ๓) สร้างระบบและวิธีการประเมิน คณาจารย์/สาขาวิชา ที่ได้กำหนดเลือกคุณลักษณะฯ ที่แต่ละท่าน/สาขาฯ เป็นผู้รับผิดชอบแล้ว ต่อไปเป็นการร่วมกันสร้างระบบประเมินคุณลักษณะฯ นั้นๆ เพื่อตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยอมรับร่วมกัน... ส่วนนี้ GE จะรับหน้าที่เป็นผู้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวในภาพรวมเพื่อสะท้อนผลให้อาจารย์ผู้สอนทราบต่อไป 

ขั้นที่ ๔) อาจารย์ร่วมกันสร้างรายวิชา  ทั้งเนื้อหาความรู้ ทักษะ และกิจกรรมส่งเสริมเจตคติ  โดยยึดหลักการ "สอนน้อย เรียนมาก" ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) ผ่านสถานการณ์หรือปัญหาจริง (Problem-based Learning) เน้นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสาร เทคโนโลยี ไอซีที และความรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวตในศตวรรษที่ ๒๑... ส่วนนี้คือการทำ มคอ. ๓ ตามกรอบ TQF นั่นเอง

ขั้นที่ ๕) ประกาศรับสมัครอาจารย์ผู้สอนที่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างนิสิตให้มีคุณลักษณะฯ ที่กำหนดขึ้น ซึ่งต้องใช้กระบวนการประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา จนอาจารย์ผู้สอนทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน มีเป้าหมายเพื่อนิสิตเหมือนกัน  โดยแบ่งอาจารย์ผู้สอนออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ 
  • อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ อาจเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย หรือเป็นผู้ประกอบการหรือปราชญ์ที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิต 
  • อาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา ซึ่งควรจะเป็นคณาจารย์จากภายในมหาวิทยาลัย 
  • อาจารย์ผู้ช่วยสอน อาจเป็นนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาหรือนิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย ฯลฯ 
(ร่าง) คุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไป 

ผมลองจัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ที่ได้ยินได้ฟัง ได้สนทนากันมาพอสมควร ทั้งจากผู้ประสานงานรายวิชา และคณาจารย์บางท่าน ลงในตาราง ๙ ช่อง หรืออาจเรียนกว่า "กระดาษ ๓ พับ"  ช่องในแนวนอนเป็นปรัชญาของ GE คือ รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ช่องคอลัมน์หมวดหมู่ตามทฤษฎีการศึกษาที่มุ่งพัฒนา ความรู้ ทักษะ และเจตคติ แสดงดังตาราง



คุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ของผู้เรียนที่ประกาศเป็นนโยบายการศึกษาของชาติคือ ผลิตคนที่ "ดี เก่ง มีความสุข" คนดีในที่นี้คือคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม คนเก่งคือคนที่มีความรู้และมีความสามารถมีทักษะการเรียนรู้ที่ดี และโดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้านนั้น ถือเป็น "คนเก่ง" ที่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัว พึ่งตนเอง และสร้างสรรค์นวัตกรรม ความเจริญรุ่งเรืองให้กับสังคม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีทักษะชีวิตที่ดี เพราะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  

การ จัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ไม่ได้มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะเฉพาะเจาะลึก (พื้นที่สีม่วง) เพื่อให้เชี่ยวชาญ หรือเพื่อการนำไปประกอบอาชีพ แต่มุ่งเสริมสร้างให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ มีคุณธรรมจริยธรรม มีทักษะชีวิต มีความรู้พื้นฐานทั่วไปเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี สามารถเรียนรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑

หากนำเอาคุณลักษณะฯ แต่ละข้อไปเติมใส่ในแผนผังวิเคราะห์ความสำคัญของแต่ละด้าน ดังรูปด้านล่าง 
แกนตั้งแทนมิติของเวลา ในที่นี้คือชั้นปี๑ - ๔ ส่วนแกนนอนแสดงองค์ประกอบแต่ละด้านของคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ที่เป็นพันธกิจของ GE โดยนิสิตต้องพัฒนาจิตวิญญาณของตน ตลอดเวลาที่เรียนทั้ง ๔ ชั้นปี และตลอดชีวิต เหมือนกับที่ต้องฝึกฝนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของตนเองจนเป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัย "ใฝ่เรียนรู้" และเรียนรู้ตลอดชีวิต  ภารกิจหลักสำคัญของ GE คือส่วนสีฟ้า ส่วนที่ต้องพัฒนา "ทักษะชีวิต" อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ในสังคม การเรียนการสอนในชั้นปี ๑-๒ ที่นิสิตลงทะเบียนเรียนรายวิชา GE ส่วนใหญ่ ต้องให้ความสำคัญส่วนนี้ 

สำหรับความรู้และทักษะเฉพาะด้าน โดยทั่วไป หลักสูตรของแต่ละสาขาวิชา จะกำหนดให้นิสิตต้องลงทะเบียนเรียนความรู้และทักษะพื้นฐานบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อในสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันตามเป้าหมายของการผลิตบัณฑิตสู่ตลาดชีวิต และฝึกฝนนิสิต ผลิตบัณฑิตด้วยวิชาบังคับเอก บังคับสาขา ในชั้นปี ๓ - ๔ ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม นิสิตชั้นปี ๓-๔ โดยเฉพาะชั้นปีสุดท้าย นิสิตควรจะได้ทดลองนำความรู้วิทยาการที่ตนได้เรียนรู้ ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่สังคม ผ่านกิจกรรมโครงงาน หรือทำโครงการจิตอาสา โดยรายวิชา GE จะเปิดโอกาสให้นิสิตจากหลากหลายสาขา ได้มาร่วมมือกัน บูรณาการความรู้และทักษะที่ตนมีทำสิ่งดีสู่ชุมชนและสังคม 

กระบวนทัศน์ GE "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง"

การจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ต้องไม่ใช่เพียงการ "เรียนเพื่อรู้ความรู้" (Informative Learning)  และไม่ใช่แค่เพียงเรียนรู้แบบแผน ทักษะ หรือรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ภายนอก (Formative Learning) แต่ต้องเป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง คือ "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning)  เปลี่ยนแปลงภายในอย่างยั่งยืน หรือในที่นี้ก็คือ เรียนแล้ว "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นั่นเอง 

การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนั้น สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนคือ "กระบวนทัศน์" หรือวิธีคิด ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนรู้และเข้าใจกระบวนทัศน์เดิม ความรู้เดิมของตนเอง และฝึกฝน ฝึกคิด ฝึกทำ พัฒนาทักษะต่างๆ ในการเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้บทบาทของตนเองในสังคม เมื่อ "รู้จักตนเอง" จะทำให้ "เข้าใจผู้อื่น" การพัฒนาจิตวิญญาณ (spiritual) แบบนี้และส่งผลให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 





แนวทางการจัดการเรียนรู้ของ GE

ความจริงกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้แยกชัดเจนระหว่าง คุณธรรมกับความรู้ ความรู้กับทักษะ คือ มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้แบบแยกทฤษฎีจากการปฏิบัติ แต่เราเรียนรู้และพัฒนาสองสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตาม แต่ละรายวิชาจะมีจุดเน้น จุดเด่นแตกต่างกัน กลุ่มวิชาหนึ่งอาจเน้นเนื้อหาความรู้ที่จำเป็น อีกกลุ่มวิชาหนึ่งเน้นฝึกทักษะย่อยๆ อีกกลุ่มวิชาเน้นเปิดโอกาสให้นิสิตนำความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากสองกลุ่มแรกมาบูรณาการใช้ในสถานการณ์จริง ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนในแต่ละกลุ่มวิชาจึงควรจะแตกต่างกัน ร่าง GE_MSU_58 นี้เสนอให้มีอาจารย์ผู้สอน ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ กลุ่มอาจารย์ประจำวิชา และกลุ่มอาจารย์ผู้ช่วยสอน ดังมีแนวทางการจัดการเรียนรู้ดังรายละเอียดในรูปด้านล่าง



การจัดการรู้แบบนี้ มีข้อดีที่สามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัดด้านขนาดของห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ GE ประสบปัญหาอยู่
  • ด้านความรู้ทั่วไปที่จำเป็น การจัดห้องเรียนขนาดใหญ่ (1500 คน) ทำให้ลดการที่ต้อง "สอนซ้ำ" อาจารย์ประจำวิชา (ที่เข้าร่วมชั้นเรียนด้วย) จะได้เรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้เรียน (Learner) 
  • ภาระงานของอาจารย์ผู้สอนจะลดลงจากการช่วยเหลือของผู้ช่วยสอน (TA) และที่สำคัญ นิสิตที่มาเป็นผู้ช่วยสอนยังได้พัฒนาตนเอง และมีรายได้เป็นทุนการศึกษาด้วย 
  • อาจารย์ผู้สนใจที่เข้าใจในปรัชญา GE และเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว สามารถสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำวิชาได้
  • นิสิตสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้อย่างอิสระจาก Youtube 
  • ฯลฯ

การเรียนรู้ที่เน้น "กระบวนการ" 

การ "สอนน้อย เรียนมาก" หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่เน้น "กระบวนการ" เน้นการเรียนรู้โดยฝึกฝนให้ผู้เรียนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนี่คือความหมายที่แท้จริงของ "การเอานิสิตเป็นศูนย์กลาง"  การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ประสานงานรายวิชาครั้งล่าสุดของสำนักศึกษาทั่วไป  มีบทสรุป ตัวอย่างรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่ "เน้นกระบวนการ" โดย อาจาย์ผู้สอน สอนน้อยลง แต่เปลี่ยนบทบาทของตนเองมาเป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย/ปัญหา หรือสถานการณ์ แล้วออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ (เพื่อสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ) และเป็นครูฝึก (Coach) หรือเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ในบางโอกาสหรือเวลาตามความเหมาะสม และทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลสัมฤทธ์แบบ "ประเมินเพื่อพัฒนา" ที่ไม่ใช่ ประเมิน "ได้-ตก" (รายละเอียดการจัดการเรียนรู้ โปรดดูรายละเอียดในภาพครับ)


  


รูปแบบการพัฒนารายวิชา GE

รายวิชา GE มีหลากหลาย ซึ่งยากจะแยกตามหมวดหมู่ว่า ส่วนใดทำให้รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น หรือทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  ผมทดลองนำเอาวิชาที่เปิดสอนปี ๒๕๕๖ มาแยกตามคุณหมวดลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดใน มคอ.๓ แสดงดังรูป


หลังจากนำเข้าสู่การเสวนาและขอความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิให้สะท้อนให้ความเห็น พบว่า ยังต้องปรับปรุงรายวิชา อีกหลายประการ เช่น 
  • ควรบูรณาการรายวิชาที่อาจมีการซ้ำซ้อน ให้เป็นรายวิชาเดียวกัน 
  • ควรพิจารณาว่ารายวิชานั้นๆ มีเนื้อหาหรือมุ่งทักษะจำเพาะที่เกินกว่า GE หรือไม่ ถูกนำไปใช้ในชีวิต หรือจำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริงๆ หรือไม่
  • ความรู้ที่จำเป็น คือ ความรู้เกี่ยวกับปัจจัย ๔  และทักษะที่จำเป็นคือทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ฯลฯ
 การบูรณาการหรือสร้างรายวิชา และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นั้น ควรมีระบบที่เป็นพลวัตร ตัวอย่างดังเสนอในรูปด้านล่าง

สิ่งที่ต้องพัฒนาสำคัญ ๔ ระบบ ได้แก่
  • ระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ ในที่นี้คือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ที่ควรมี ๒ ระดับ คือ ระดับการวัดรายวัตถุประสงค์ของแต่ละรายวิชา เช่น การทดสอบย่อย (อาจทำด้วยระบบ E-Testing) หรือเป็นคะแนนจากผลงาน หรือกิจกรรม ฯลฯ  อีกระดับเป็นการวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ของนิสิตโดยภาพรวม ซึ่ง GE ต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประเมิน  แล้วนำผลการประเมินนี้มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงรายวิชา หรือใช้ในการประเมินอาจารย์ผู้สอน  เราอาจเรียกระบบนี้ว่า "ระบบทวนสอบผลสัมฤทธิ์" 
  • ระบบการพัฒนารายวิชาและหลักสูตร  เป็นการนำกระบวนการจัดการความรู้หรือการวิจัยการเรียนการสอน  เข้ามาช่วยในการสื่อสารและพัฒนาระบบต่างๆ เช่น กำหนดให้ทุกกลุ่มวิชามีการ "ถอดบทเรียน" และทำ AAR กันทุกปีการศึกษา และให้อาจารย์มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในพัฒนาอาจารย์ เพื่อร่วมกันปรับปรุงรายวิชาหรือหลักสูตรเพื่อให้บรรลุตามปรัชญาของ GE 
  • ระบบพัฒนาอาจารย์ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม 
  • การจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้แบบ "สอนน้อย เรียนมาก" เช่น สนับสนุนด้าน เทคโนโลยี ไอซีที ฯลฯ และสร้างบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยสู่ "สังคมแห่งการเรียนรู้" 
อย่าลืมว่า นี่เป็นเพียง "ร่าง" ที่ยังต้องการความคิดเห็นและประสบการณ์ของท่าน เพื่อก้าวไปให้ถึงฝันของ GE MSU คือ "ผลิตบัณฑิตผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" ที่ "มีปัญญาและเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ....


หลังจากเสนอรูปแบบ GE_MSU_58 นี้ในที่ประชุม ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเห็นด้วยอย่างยิ่ง และได้เพิ่มเติมความเห็นและสะท้อนที่เป็นประโยชน์หลายประการ  บันทึกต่อไปจะเสนอรูปแบบที่ได้ปรับปรุงตามที่ท่านๆ เสนออีกครั้งหนึ่งครับ


๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ฤทธิไกร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"