KM ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป (๑) จุดมุ่งหมายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

วันที่ ๔-๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ สำนักศึกษาทั่วไป จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเอกสารที่เกี่ยวข้อง (บางส่วน) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่วิชชิ่ง ทรี รีสอร์ท (Wishing Tree Resort) ขอนแก่น  มีอาจารย์ผู้ประสานงานเข้าร่วมทั้งหมด ๒๗ ท่าน บุคลากร ๑๙ คน  และวิทยากรรับเชิญอีก ๑ ท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มาบรรยายและให้คอมเมนต์กำกับทิศทางการพัฒนา บันทึกนี้ อยากเล่าถึงสาระสำคัญอันเป็นเป้าหมายของรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่ท่านได้บรรยายให้หลักคิดไว้อย่างชัดเจน  เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนที่เข้ามาอ่านได้ยึดเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อไป

ความจริงไม่น่าจะเรียกการบรรยาย เพราะนอกจากจะให้เวลาท่านเพียงครึ่งชั่วโมง และวิธีที่ท่านใช้คล้ายการเล่าประสบการณ์การไปศึกษาดูงานหรือการร่วมสัมนาระดับนานา่ชาติสลับกับการตั้งคำถาม  ในที่นี้ ขอนำประเด็นสำคัญที่ท่านสรุปสาระสำคัญของการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไว้ที่นี่ให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน  แต่หากอยากอ่านละเอียด ท่านแนะนำไว้ให้อ่านได้ที่นี่

  • สไลด์นี้บอกว่า รายวิชาศึกษาทั่วไปไม่ใช่เฉพาะรายวิชาที่นักศึกษาสนใจ แต่ต้องเป็นรายวิชาที่เติมเต็มให้นักศึกษาพร้อมและมีแรงบันดาลใจที่จะออกไปเผชิญกับโลกอย่างมีความสุข  
ข้อนี้ตรงกับแนวคิดในการหลักสูตรฯ ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของเรา ที่ลดจำนวนรายวิชาลงให้นิสิตเกิดผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายการศึกษาที่จำเป็นครบถ้วน คล้ายคลึงกัน




  • สไลด์นี้บอกว่า การศึกษาทั่วไปนั้นไม่ใช่ต้องจัดให้เพียงในโรงเรียน แต่ในระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องให้ความสำคัญด้วย  
ประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับการศึกษาทั่วไปของไทย ที่กำหนดให้นิสิตระดับปริญญาตรีทุกคนต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไป อย่างน้อย ๓๐ หน่วยกิต


  • สไลด์นี้บอกว่า ในอเมริกานั้น เป้าหมายของวิชาศึกษาทั่วไปในระดับประถมและมัธยมนั้น มุ่งสอนให้รู้จักสิทธิ์ หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะความเป็นพลเมืองของรัฐ 
  • ส่วนการศึกษาทั่วไปในระดับมหาวิทยาลัย จะให้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีความหมาย 
  • สไลด์นี้ บอกว่า GE คือทรัพย์ภายใน สิ่งที่ได้จากการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้น อาจไม่ได้มีความหมายหรือสามารถนำไปใช้ในตอนนี้ แต่จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะอยู่ในความทรงจำและเป็นส่วนหนึ่งของนักศึกษา แต่เมื่อถึงโอกาสและเวลาในอนาคต สิ่งเหล่านั้นจะผุดขึ้นมาในใจนักศึกษา เมื่อถึงตอนนั้น เขาจะเข้าใจว่า รายวิชาศึกษาทั่วไป ให้ความหมายอะไรในชีวิต 

  • สรุปว่า รายวิชาศึกษาทั่วไป มุ่งให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีแห่งชีวิตที่มีคุณค่าและความคุ้มค่าของการมีชีวิต  (เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียงเงินทอง อำนาจ หรือความสุขทางกายเท่านั้น)


  • รายวิชาศึกษาทั่วไปในฮาร์วาร์ดจะมุ่งให้นักศึกษารู้ว่าจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ชีวิตที่ดีนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง 
  • หลักสูตรฯ จะทำให้เห็นความท้าทายของชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ และเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถค้นหาหนทางแห่งความคุ้มค่าของชีวิต 
 

  • สไลด์นี้บอก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่คาดหวัง ๔ มิติของ GE ของฮาร์วาร์ด 2015  ได้แก่  การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง  สังคมดั่งเดิม มิติทางจริยธรรม ยือหยุ่นเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในศตวรรษที่ ๒๑  (ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง)

นอกจากนี้ท่านยัง ให้แนวทางในการพัฒนารายวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ผมจับประเด็นสำคัญๆ ได้ ๕ ประการ ได้แก่


(๑) วิชาศึกษาทั่วไปต้องไม่ใช่วิชาเฉพาะ ไม่ใช่วิชาในสาขาใดสาขาหนึ่ง ต้องไม่เน้นลงลึกด้านเนื้อหา แต่ก็ต้องไม่ใช่การเรียนซ้ำเนื้อหากับระดับโรงเรียน

(๒) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาเพื่อเตรียมคนออกไปเผชิญกับโลก รู้จักโลก รู้จักตนเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจวัฒนธรรม


(๓) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาจะเพิ่มและเติมเต็มทักษะการเรียนรู้ เช่น ศาสตร์และทักษะในการสืบค้นสารสนเทศ จากแห่งต่างๆ เช่น ห้องสมุด ฯลฯ


(๔) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาเพื่อพัฒนาพลเมือง เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้อย่างดี



(๕) วิชาศึกษาทั่วไป ไม่ใช่วิชาเน้นการรู้จำ แต่เน้นเพื่อสร้างคุณธรรม จริยธรรม และเน้นให้เห็นคุณค่าของความดีและชีวิต

ตลอดภาคเช้า ท่านได้สะท้อนความเห็นในขณะอภิรายถึงเป้าหมายของแต่ละรายวิชา ผม AAR ว่า เราบรรลุถึงคุณค่าที่แท้จริงของการการจัดโครงการฯ อย่างดีเยี่ยม




บันทึกต่อไปมาดูข้อสรุปสาระและแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ครับ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"