CADL_KM-GE_๕๘-๐๒ : เรียนรู้วิธีจับประเด็นจาก รศ.ดร.จิตเจริญ ไชยาคำ (ปราชญ์ JJ) (๓) "ถอดบทเรียน : เขียนแนวปฏิบัติ"
ในการกล่าวเปิดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ได้แนะนำต่อผู้เข้าร่วมโครงการคือ ประสบการณ์ด้านการนำงานประจำ (Routine) มาเขียนแลกเปลี่ยนให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ด้วยทาง www.gotoknow.org ของ รองศาสตราจารย์ ดร.จิตเจริญ ไชยาคำ หรือ อ.JJ
หลายคนหลายครั้งคงมีความหลังคล้ายกันตอนไปเยี่ยมญาติเราที่ป่วยในโรงพยาบาล หมอเท่านั้นที่จะสามารถอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ที่อยู่ท้ายเตียงผู้ป่วย ทั้งๆ ที่หลังจากหมอหยิบมาดู ฟิล์มนั่นก็ยังอยู่ในซองน้ำตาลท้ายเตียง เคยหยิบออกมาถามพยาบาล พยาบาลจะบอกเป็นงานของหมอ อยากรู้ต้องรอไปอีกหนึ่งวัน (เพราะหมอมาที่เตียงวันละครั้ง) สืบค้นทางเน็ตก็ไม่ค่อยเจอ รู้สึกเหมือนศาสตร์ลึกลับของตระกูลเหมือนการเปลี่ยนสีหน้าของงิ้วจีนที่ไม่สอนให้กับคนนอก อะไรอย่างนั้น
อ. JJ มักจะนำเอาฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ท่านรักษาคนไข้ มาเขียนไว้ในบันทึกให้ผู้สนใจได้เข้าไปอ่าน เช่น ที่นี่ ที่นี่ หรือ ที่นี่ ฯลฯ บันทึกของท่านเหล่านั้น คือตัวอย่างของการทำวิทยาทานจากงานจริงๆ อานิสงค์เบื้องต้นของคนที่สามารถทำได้แบบนี้คือ "ความเชี่ยวชาญ" ที่จะมียิ่งๆ ขึ้นไป
ผมเสนอว่าจุดเริ่มต้น สำหรับบุคคลที่จะเขียนคู่มือปฏิบัติงานของตนเอง อยู่ที่การเริ่มเขียนบันทึกประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญของตน แบบที่ อ. JJ ท่านทำ เพราะการเขียนอย่างต่อเนื่องจะพัฒนาทักษะการคิดและเขียน จนเมื่อถึงจุดที่มีความสุขกับการเขียน หรือมีความสุขที่ได้เรียนรู้ ตอนนั้นก็พร้อมที่จะเขียนคู่มือฯ แล้ว ... และสิ่งสำคัญคือ จะทำให้เขียนอย่างมีความสุข เกิดความภูมิใจที่ได้แบ่งปันวิทยาทาน
กิจกรรมที่ ๒ ถอดบทเรียนกระบวนการ
สิ่งที่ต้องการเห็นในคู่มือฯ คือ "แนวปฏิบัติ" ที่ชัดเจน วิธีการให้ได้แนวปฏิบัติ คือต้องถอดบทเรียนเป็น โดยเฉพาะการถอดบทเรียนให้เห็นกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงาน ซึ่ง อ. JJ ใช่คำว่า "ถอดบทเรียนของการถอดบทเรียน" โดยจัดให้เป็นกิจกรรมที่ ๒ ของการฝึกอบรมในวันั้น ถือเป็นการทบทวนระหว่างการอบรมหรือ During Action Review หรือ DAR
ชุดคำถามที่ท่านใช้ ได้แก่
- เช้านี้ แต่ละท่าน เห็นขั้นตอน ที่อาจารย์ JJ นำเสนออย่างไร
- เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร
- ตัวท่านจะนำไปปรับใช้อย่างไรในการทำงาน
แล้วให้เวลาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม ๆ ละ ๘ คน ประมาณ ๒๐ นาที ก่อนกลับมารวมกันนำเสนอ
หากตั้งคำถามใหม่แบบซื่อๆ ว่า อ. JJ ทำอะไรตั้งแต่เช้านี้ คำตอบที่ดีจะบอกว่าขั้นตอนกิจกรรมที่ท่านทำ นั่นคือ "แนวปฏิบัติ"สำหรับบทบาทกระบวนกรนั่นเอง ดังนั้น กิจกรรมนี้ก็คือวิธีฝึกจับประเด็นให้เห็นกระบวนการนั่นเอง
การถอดบทเรียนเพื่อให้ได้กระบวนการและขั้นตอนการทำงานบ่อยๆ จะทำให้เกิดทั้งทักษะในการเขียน "แนวปฏิบัติที่ดี "ในการทำงานตามภาระหน้าที่ของตน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของคู่มือการปฏิบัติงาน หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า BP (Best Practice)
อย่างไรก็ดี การถอดบทเรียนกระบวนการ ไม่ควรจบเพียงแค่ลิสท์ลำดับขั้นตอน เท่านี้ เพราะสิ่งที่กำหนดไว้ให้เขียนในคู่มือฯ คือ ผังงาน (Flow Chart) อ่านวิธีเขียนจากบทความดีๆ ที่นี่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น