CADL_KM-GE_๕๘-๐๒ : เรียนรู้วิธีจับประเด็นจาก รศ.ดร.จิตเจริญ ไชยาคำ (ปราชญ์ JJ) (๒) "จับประเด็น"

บันทึกที่ (๑)

วิธีการของ อาจารย์ JJ เพื่อให้เข้าใจเรื่อง "จับประเด็น"

กิจกรรมที่ ๑ 

อ. JJ ใช้กระบวนการ ๕ ขั้นตอน ได้แก่ เปิดคลิปให้ดู->ตั้งคำถาม->แบ่งกลุ่มให้แลกเปลี่ยนหาคำตอบ->ให้นำเสนอ และ ->ร่วมกันสรุป

เริ่มด้วยการเปิดคลิป "เช้านี้ที่แอฟริกาให้ดู"   ผมยกเอาคลิปตัวอย่างจากยูทูป เพื่อให้ผู้อ่านลองดูตามไปด้วยเลย ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบอุปนัยไปในตัวเลยครับ  (ไม่ไม่ใช่คลิปที่ อ.JJ นำมาเปิดแต่น่าจะหลักเดียวกันครับ)



(ค้นคลิปการล่าของเสือไม่พบที่ถูกใจ ขอใช้คลิปการล่าของสิงโตแทนนะครับ : ไม่ใช่เสือล่ากวาง แต่เป็นสิงโตล่าหมูป่า)

เมื่อดูเสร็จ ให้จับกลุ่ม ๆ ละ ๘ คน ช่วยกันตอบคำถามต่อไปนี้
  • มีสิงโตกี่ตัว? 
  • ทำไมเสือจึงจับกวางได้?
  • ได้เรียนรู้อะไรจากคลิปนี้? 
แล้วให้แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเขียนข้อสรุปไว้บนกระดาษฟลิบชาร์ท

เทคนิคการจับประเด็น

หลังจากนำเสนอ แล้ว อ.JJ ชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอของทุกกลุ่มเป็นลักษณะการเสนอความคิด หรือความเห็น มากกว่าการเสนอผลของการจับประเด็น  ...  ผมจับความ "หลักการ" ในการจับประเด็นเป็น ๓ ระดับ ดังนี้
  • ระดับที่ ๑ จับองค์ประกอบของเรื่อง ขั้นนี้ต้องไม่ใส่ความคิดของตนเอง เห็นและได้ยินอย่างไรก็เพียงแต่สื่อความหมายออกไปอย่างนั้นโดยไม่ใส่ไข่ ให้สี เสริมสวยใดๆ  โดยจับประเด็นให้เห็นสิ่งสำคัญ ๆ ต่อไปนี้
    • เห็นเหตุการณ์ว่า ใคร/อะไร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ กับใคร อะไรเกิดขึ้น อะไรจบลง
    • เห็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สำคัญ ใครกี่คน/อะไรกี่ตัว ทำอะไรมากน้อยเท่าใด ใช้อะไรเป็นเครื่องมือ หรือเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง นานแค่ไหน กี่นาที กี่ชั่วโมง กี่วัน ฯลฯ  
    • เห็นกระบวนการหรือขั้นตอน เริ่มอย่างไร จบอย่างไร มีกี่ขั้นตอน ฯลฯ
  • ระดับที่ ๒ คิดวิเคราะห์เหตุการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นตรรกะ ให้เห็นวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์ประกอบ และเห็นการเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้น โดยใช้เพียงข้อมูลที่ได้รับจากที่ได้ยิน ได้เห็น เท่านั้น ยังไม่ต้องวิเคราะห์ตีความเชื่อมโยงความรู้เดิมของผู้จับประเด็น 
  • ระดับที่ ๓ สรุปความสังเคราะห์ความ หรือจับเอาเจตนาของเรื่องหรือของผู้แต่งเรื่อง หรือเรียกว่า จับเอาสาระ  ซึ่งจะจับได้มากน้อย แม่นตรง แหลมคม ลุ่มลึก ขึ้นอยู่กับ สติ สมาธิ และประสบการณ์เดิมของผู้จับประเด็น 
ตัวอย่างการจับประเด็น

สังเกตคำถามที่ท่าน อ.JJ ตั้งไว้เป็นไว้เป็นไกด์ให้แลกเปลี่ยนกัน เมื่อพิจารณาจากคำตอบของแต่ละกลุ่ม จะเห็นเป็นดังที่ท่านบอกเกือบหมด

สิงโตมีกี่ตัว?  เป็นคำถามที่อยู่ในระดับ ๑ ที่ไม่ต้องใช้ความคิดใด และส่วนใหญ่จะตอบถูกต้อง  ปัจจัยสำคัญคือ สมาธิจดจ่อ ตั้งใจดู ตั้งใจฟัง ขอแนะนำให้ปฏิบัติธรรมแนวดูจิต เพราะการฝึกดูจิตจะทำให้เห็นการผุดขึ้นของความคิดและตะกอนหลังความคิด ซึ่งเป็นปัจจัยไม่ให้ตกลงไปในห้วงความคิดของตน ทำให้ไม่สับสนว่าอะไรใครคิด

ส่วนคำถามว่า ทำไมเสือจึงจับกวางได้? เป็นคำถามที่ต้องตอบด้วยการวิเคราะห์เหตุผล คำตอบของคำถามนี้อยู่ในระดับที่ ๒ ของการจับประเด็น เช่น
  • สิงโตวิ่งเร็ว
  • สิงโตวิ่งเป็นจังหวะ
  • มีสิงโตหลายตัวเข้ารุม
  • ฯลฯ 
ซึ่งหากพิจารณาคำตอบจากแผ่นฟริบชาร์ท ดังภาพด้านล่างจะพบว่า คำตอบระดับ ๒ นี้น้อยมาก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็น คำตอบระดับ ๓ ที่ อ. JJ ท่านบอกว่าเป็นความเห็น ความคิด ไม่ใช่การจับประเด็นที่ดี




พิจารณาจากคำตอบแล้ว บางทีเราอาจต้องยอมรับว่า เราทำงานบนฐานความคิดความเห็นจริงๆ ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"