CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_08: กิจกรรมรวมรวบแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ ๒๐ - ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗ CADL จัดค่ายรวบรวมนิสิตแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จำนวน ๒๘ คน จาก ๖๓ รายชื่อที่ได้รับแจ้งว่ามารายงานตัว รวมกับรุ่นพี่อีก ๑๒ คน รวม ๔๐ คน วัตถุประสงค์สำคัญคือการสร้างชุมชนเรียนรู้หลัก ปศพพ. ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการน้อมนำไปปรับใช้ด้านการศึกษา โดยหวังใจว่า จะเป็นจุดเริ่มของ "จุดร่วม" ของคนที่มีศรัทธาในการสร้างความดี คือ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสู่เพื่อนนิสิตในมหาวิทยาลัยตามกำลังของตนต่อไป
โลโก้โครงการเด็กดีมีที่เรียน (ขอบคุณ น้องเปรมยุดา ชมภูคำ ผู้ออกแบบนะครับ) |
งานนี้เรามี "คนดี" ผมถือว่าผมมีบุญที่เหมือนมีหลายอย่างมาหนุนให้ได้ทำงานนี้ในช่วงเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุการณ์ที่วันหนึ่ง น้องอุ้ม "ภาณุพงศ์ คงสวัสดิ์" เดินเข้ามาใน CADL อย่างไม่ได้นัดหมาย บอกว่า "ผมมาเรียนต่อ ป.โท มีอะไรจะให้ช่วยไหมครับ..." ผมตอบรับทันที เพราะผมกำลังมองหา "คนดี" มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นฐานของ ปศพพ. มาทำงานขับเคลื่อนฯ อยู่แล้ว
ก่อนหน้าวันนั้นหนึ่งเดือน ผมเคยไปให้อุ้มช่วยประสานกับนิสิตชมรมพุทธศาสน์ เพราะผมรู้ว่าอุ้มเป็นอดีตประธานชมรมพุทธ ซึ่งต่อมาทำให้ผมได้รู้จักกับ "เก่ง" ประธานชมรมพุทธศาสน์คนปัจจุบัน และรุ่นน้องจากโรงเรียนจันทรุเบกษานุสรณ์อีกหลายคน เราไปช่วยงานเสวนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑๖ ที่จัดขึ้นที่วัดสว่างโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น
อุ้มทำงานอย่างแข็งขัน จนเกิดค่ายเด็กดีมีที่เรียนครั้งที่ ๑ ครั้งนี้ขึ้น และสำเร็จลุล่วงไปอย่างประทับใจ ทุกคนรวมทั้งพี่ๆ CADL ก็เปิดใจรับและมั่นใจว่า "เราไปได้แน่" ผมเอง AAR ว่า เราบรรลุเป้าหมายของกิจกรรมแรกนี้อย่างยิ่ง แม้ว่าอาจจะมีบางสิ่งที่เราสามารถทำดีได้ยิ่งขึ้น
กิจกรรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา ในมหาวิทยาลัย ผมกล่าวในการปฐมนิเทศหลังจากเป็นประธานเปิดค่าย เพื่อสื่อสารไปยังนิสิตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องที่มารวมกันในวันนั้นว่า เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการนี้เพื่อวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่
๑) เพื่อให้เป็นจุดร่วมหรือศูนย์รวมหนึ่งของ "คนดี" หรือคนที่มีศรัทธาในการทำ "ความดี" โดยเฉพาะนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนที่มีพันธกิจโดยตรงที่ต้อง "ดำรงธรรม" หรือ "ดำรงความดี" ผ่านการทำกิจกรรมหรือโครงการความดีร่วมกันอย่างต่อเนื่องตลอดการศึกษาในมหาวิทยาลัย
๒) เพื่อสร้างและพัฒนานิสิตแกนนำ "คนดี" ที่มี "จิตอาสา" อยากจะร่วมกันขับเคลื่อนฯ พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไป เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือกล่าวรวมกันว่าเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง"
๓) เพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ให้นิสิตในมหาวิทยาลัยได้เข้าใจ และน้อมนำไปใช้ตามสมควรแก่ตน
และบอกแนวทางการฝึกตนเองให้กับนิสิต ๓ ขั้นตอน ได้แก่
๑) การเรียนรู้ตนเองเพื่อให้ "รู้จักตนเอง" โดยใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาวิถีพุทธ เพราะวิธีนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เข้าใจคำว่า "พอประมาณ" อย่างแท้จริง
๒) เรียนให้รู้และเข้าใจผู้อื่น ผ่านกิจกรรมพัฒนานิสิต กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และช่วยเหลือสังคม หรือโครงการ/โครงงานความดี
๓) ฝึกให้ตนเองสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ดีในสังคมในศตวรรษใหม่ หรือที่เรียกว่า ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
หลังจากจากกิจกรรมนี้ผ่านไป ๑ อาทิตย์ เราประชุมกลุ่ม CADL ทำ AAR กัน สรุปได้ดังนี้ว่า
- เรามีนิสิตที่พร้อมใจจะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นนิสิตแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยจำนวน ๔๐ คน
- ในจำนวนนี้ มีนิสิตแกนนำที่เป็นนักเรียนทุนของสำนักงาานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน ๓ คน ซึ่งมาจากโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาฯ ทั้งสามคนพร้อมจะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนฯ ปศพพ. ในมหาวิทยาลัย
- นิสิตที่เข้าร่วมโครงการรู้จักและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีนิสิตรุ่นพี่ชมรมพุทธศาสน์จำนวน ๑๒ คน เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงค่ายนี้ และพร้อมจะร่วมกิจกรรมในการขับเคลื่อนเด็กดีมีที่เรียนต่อไป
- ได้แนวทางในการทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนี้ ๑) มีกิจกรรมประจำเดือน ณ ห้องโถงกิจกรรมสำนักศึกษาทั่วไป ๒) มีกิจกรรมค่ายพัฒนานิสิตแกนนำหรือศึกษาดูงานประจำปี ๓) จะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่จะจัดขึ้นโดย CADL ๔) จะร่วมกันขับเคลื่อน ปศพพ. ผ่านกิจกรรมหรือโครงการ/โครงงานความดีตลอดที่เรียนในมหาวิทยาลัย
- สิ่งที่ต้องพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นคือ การน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ในการจัดค่าย การเพิ่มทักษะในและความมั่นใจในการสื่อสาร นำเสนอ และการออกแบบกิจกรรมที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ภายใน หรือกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง (จิตตปัญญาศึกษา)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น