ข้อเสนอ การนำ KM-inside มาใช้ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ต้นเดือนตุลาคม ผมเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย ไปร่วมประชุมเตรียมการงาน mini-UKM#20 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ ม.นครพนม ในวันที่ ๒๓-๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ นี้  ผมสรุปสิ่งที่เรากำหนดแนวทางร่วมกันไว้ที่นี่ 
วันนี้ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ทีมขับเคลื่อน KM มหาวิทยาลัย นัดผมและ อ.ชัยสิทธิ์ ไปทำวง KM เล็กๆ โดยมีหัวปลา (BAR) สั้นๆ ให้เข้าใจถึงสถานการณ์และความต้องการที่งาน KM จะช่วยได้ และคุยกันว่ามหาวิทยาลัยควรจะ (หรือน่าจะ) ขับเคลื่อน KM กันอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้ง "ภายใน" และสามารถเชื่อมโยงเครือข่าย "ภายนอก" (mini-UKM) เพื่อให้เกิดพลังเสริมหนุนกันได้
ผมมีโอกาสนำเสนอความเห็น แต่รู้สึกว่ายังนำเสนอไม่ได้ดีนักกับสิ่งที่ตนเองอยากจะเสนอ จึงขอส่งสื่อสาร แนวคิดในการเอา KM มาใช้ช่วยงานของมหาวิทยาลัยในบันทึกนี้ 
KM inside
ขอเสนอให้เน้น "KM inside"  เท่านั้น  (หากอยากรู้ละเอียด คลิกอ่านที่นี่ ... โดยเฉพาะน้องอร ต้องอ่านให้จบ)



เหตุที่ต้องใช้ KM-inside เท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ๑๒ ปี KM-inside เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จและทำได้จริงในระบบราชการไทย ระบบและกลไกการทำราชการที่ใช้การประชุม->สั่งการ->ติดตาม->ประเมิน (PDCA) ที่ทำอยู่นั้น เป็นระบบใหญ่ที่มีข้อดีอยู่แล้ว ข้อเสียของระบบราชการไทย ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมดด้วย KM  เนื่องจาก 
  • KM เน้นว่า ความรู้ฝังลึกในตัวคน (Tacit Knowledge, TK) มีมากกว่าร้อยละ ๘๐ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ... แต่ในระบบ "ประชุม-> สั่งการ" ให้ความสำคัญกับ "งาน" มากกว่าคน 
  • KM เน้นการจัดการความรู้ของคน (ถอดบทเรียนจาก TK ไปเป็น EK (ความรู้ชัดเจ้ง (Explicit Knowledge)) ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำได้ก็คือ "ตน" (ตนเอง) เท่านั้น หรือไม่ก็ต้องใช้  คุณอำนวย (Facilitator) และคุณลิขิต (Note Taker) ที่ "มีใจ" ซึ่งก็คือทางนำไปสู่ KM-inside นั่นเอง
  • KM เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งจะเกิดได้ภายใต้เงื่อนไขการ "เปิดใจ" หรือ "มีใจ" ใฝ่เรียนรู้เท่านั้น และนั่นก็คือ KM-inside 
  • KM เน้นเรื่อง "งานก็เป็นผล คนก็เป็นสุข" (สำนวน คุณหมอ JJ)  ซึ่งเกิดได้เฉพาะใน KM-inside 

ข้อจำกัดของ KM-inside

ตามประสบการณ์ของผม ข้อจำกัดหรือน่าจะเรียกว่าข้อตกลง (Postulations) ของ KM-inside มีดังนี้ 
๑) KM-inside ใช้ไม่ได้เมื่อคนทะเลาะกัน  ...  เหตุส่วนใหญ่ที่ทำ KM ไม่สำเร็จในหน่วยงาน คือ คนทะเลาะกัน ไม่จริงใจต่อกัน ไม่ไว้ใจกัน อิจฉาริษยากัน 
๒) KM-inside ใช้ไม่ได้ในองค์กรที่ผู้บริหารบ้าอำนาจ ... ถ้าผู้บริหารหรือหัวหน้างานใด ยึดมั่นในการทำงานแบบ "ประชุม->สั่งการ->ติดตาม->ประเมิน"  ไม่ต้องเสียเวลาไปทำ KM 
๓) KM-inside ไม่เหมาะสมกับคนทุกคน ... คนประเภทเห็นแก่ตัว ยึดมั่นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ซื่อสัตย์ ปองร้าย ...ฯลฯ หรือก็คือ คนพาล ไม่สามารถใช้ KM-inside ได้ 
๔) KM-inside ไม่เหมาะสมกับทุกงาน ... งานใดที่ไปได้ดีในระบบราชการอยู่แล้ว แบบ "งานก็ได้ผล คนก็อยู่ได้" ไม่จำเป็นต้องใช้ KM-inside เพราะหากใช้อาจจะไปเจอ ข้อ ๑) ข้อ ๒) ข้อ ๓)  งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็น งานประจำ (Routine) แนะนำให้ทำ R2R (Routine to Research) คือใช้ความก้าวหน้าของงานเป็นศูนย์กลาง .... งานที่เหมาะสมที่จะใช้ KM-inside คืองานเชิงรุกที่มีเป้าหมายเชิงคุณค่า (Value) ทำ่แล้วเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร และทำให้คนทำรู้สึกมีคุณค่า เป็นงานสำคัญที่ต้องร่วมมือร่วมใจจึงจะสำเร็จ 
๕) KM-inside จะเน้นการ "ให้" ไม่ใช่การ "รับ" ... ดังนั้น หัวเรื่องหรือประเด็นที่กำหนดมาทำ KM-inside ไม่ควรเป็นเรื่องสนองโยชน์ของตนเองหรือคนกลุ่มที่มาทำ แแต่เป็นเรื่องที่ต้องมาเสียสละร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 

ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการทำ KM-inside 
 ผมขอเสนอบันได ๕ ขั้น ในการนำ KM-inside มาพัฒนางานของมหาวิทยาลัย ดังนี้ 
ขั้นที่ (๑) ค้นหาฅน KM-inside     
  • เริ่มจากค้นหาผู้ที่สนใจเรียนรู้เรื่อง KM-inside 
  • รับอาสาแล้วพัฒนาผู้สนใจที่จะเป็นคุณฟา (คุณอำนวย)   ... หากไม่เป็นแต่สนใจให้การสนับสนุน อาจจะทำหน้าที่เป็น"คุณเอื้อ" "คุณกิจ" "คุณลิขิต" หรือค "คุณวิศาสตร์" ฯลฯ ตามแต่ถนัด 
  • จัดตั้ง "ขบวนฅน KM" มีรูปขบวน มีเป้าหมาย มีแผนการ มีการส่งเสริมและหนุนเสริมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ขั้นที่ (๒) ค้นหาฅนต้นแบบ (BP, Best Practice หรือ GP, Good Practice)
  • เรียนรู้และค้นหาตนเอง ในที่นี้หมายถึงมหาวิทยาลัยของเรา เรามีอะไรดี มีจุดเด่นเรื่องอะไร มีความสำเร็จอะไรที่ควรขยายผล มีแนวปฏิบัติเรื่องใดที่ควรเผยแพร่กระจายให้คนที่มีหน้าที่นั้น ๆ นำไปปฏิบัติ 
  • ถอดบทเรียน ฅนต้นแบบเหล่านั้น  ออกมาเป็น GP แล้วคัดกรองให้เหลือ BP ... คนทำงานถอดบทเรียนก็คือ "ขบวนฅน KM"  จากขั้นที่ (๑)
ขั้นที่ (๓) สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Show & Share & Shift, 3S) 
  • Show คือ เอาคุณกิจเจ้าของ BP และ GP มาโชว์  สร้างเวทีให้ท่านได้ขยายผล และชี้บอกว่านั่นคือ "ฅนต้นแบบ" ในเรื่องนั้นๆ   ....  ระวังว่า ไม่ใช่โชว์เฉพาะ BP หรือ GP เท่านั้น ....  ฅน KM จะไม่เด่นและต้องไม่เด่น คนที่เด่นคือ คุณกิจ 
  • Share คือ สร้างเวทีให้คนได้แบ่งปัน ทำวิทยาทาน อันเป็นทานสูงสุด ส่งเสริมให้คนได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่มีความสนใจเหมือนกันหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะคนที่มีเป้าหมายหรือสไตล์เดียวกัน 
  • Shift คือ การยกระดับความรู้ ...  เอาคนที่เป็น BP ในเรื่องนั้นๆ ที่ยอมรับของสังคม ต้นแบบของสังคมจริงๆ มาแลกเปลี่ยน มาเล่าเรื่อง มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนวงในมหาวิทยาลัย ... ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ทุกครั้ง เพราะ ลำพับการแลกเปลี่ยนภายในก็สามารถยกระดับความรู้กันได้ โดยเฉพาะหากคุณกิจเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน 
ขั้นที่ (๔) ใช้ความรู้ 
  • หนุนเสริมหรือส่งเสริมให้คุณกิจ ผู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำความรู้ไปใช้หรือใช้ความรู้ในการทำงาน ทำให้ความรู้ออกฤทธิ์ (สำนวน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) 
  • ระหว่างนี้ ต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คุณกิจ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือทำ 3S กันผ่านระบบออนไลน์ ... ผมขอเสนอให้ใช้ www.gotoknow.org
ขั้นที่ (๕) ประเมินผลลัพธ์และสะท้อนการเรียนรู้ (Evaluatio & Refleciton & Feedback)
  • Evaluation ให้เน้นการประเมินผลของ KM ต่อ ๑) ผลลัพธ์ของงานตามพันธกิจ ที่นำ KM-inside ไปใช้  ๒) ผลลัพธ์ต่อฅนทำงาน ทั้งมิติความสุขและแรงบันดาลใจในการใช้ KM ต่อไป 
  • Reflection ให้สะท้อนการเรียนรู้ทั้ง ๓ มิติ ได้แก่
    • Refleciton of Learning คือการทำ After Learning Refection (ALR) (สำนวน หมด JJ) ดูว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง 
    • Reflection as Learning  การใช้ KM เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ จัดการควรรู้ และยกระดับการใช้ความรู้ มีพัฒนาการ/สำเร็จหรือไม่ อย่างไร 
    • Reflection for Learning คือการทำ AAR (After Action Review) ดูผลลัพธ์ของงานว่าบรรลุผลหรือไม่ ไม่บรรลุเพราะอะไร อะไรคือปัญหาอุปสรรค หากจะทำอีกจะทำอย่างไรต่อไป 
หากเห็นด้วย... ก็มาลุยกันเลยครับ 
..................................
ขอให้กำลังใจกับทีม KM ของมหาวิทยาลัยทุกท่านครับ 


กราบขอขมาผู้ใหญ่ผู้รู้ทุกท่าน ที่การทำงานผ่านมาอาจจะล่วงเกินท่านไป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งที่เผลอไปโดยไร้เจตนา และทั้งทำไปโดยไร้ปัญญาไร้สัมมาสติ ทั้งทางด้านกาย วาจา หรือทางใจ  ขอความไม่มีภัยจงมีต่อผมเถิด... ขอเริ่มต้นและร่วมทางกับ "ฅนKM" ด้วยสมัครใจอย่างยิ่งครับ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"