CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_09: แนะแนว "หัวเลี้ยวรอยต่อชีวิต" ณ โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร
บ่ายวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ กลุ่มนิสิตจิตอาสาและรุ่นพี่เด็กดีมีที่เรียน ๙ คน ออกไป "ทำความดี" ด้วยการแนะแนวเกี่ยวกับหัวเลี้ยวรอยต่อชีวิต ให้กับกลุ่มน้องๆ ชั้น ม.๖ โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร
ผมออกแบบกิจกรรมให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันแบบ Active Learning โดยการปรับเอากระบวนการค้นหา "เป้าหมายชีวิต" ที่ได้เรียนรู้จาก รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล มาใช้กับการแนะแนว (อ่านได้ที่นี่) กิจกรรมนี้ทำแล้วรู้สึกว่าได้ผลมาก (เด็กๆ อยากให้กลับไปอีก และผมก็อยากกลับไปอีก) จึงอยากบันทึกเล่าให้ฟัง เผื่อว่า นิสิตรุ่นพี่ๆ และเด็กดีมีที่เรียนจะได้นำไปใช้ต่อไป
กระบวนการ
๑) แจกกระดาษ post-it คนละแผ่น แล้วถามว่า "เป้าหมายชีวิตของเธอจะประกอบอาชีพอะไร?" โดยเน้นว่า ในอีก ๓-๕ ปี ข้างหน้านี้ ให้นักเรียนทุกคนเขียนอาชีพที่ตนอยากเป็นลงในกระดาษที่แจกให้
๒) ให้นักเรียนทุกคนนำกระดาษที่เขียนออกมาติดบนหน้ากระดาน โดยกำชับให้อ่านของเพื่อนๆ ก่อน แล้วแปะติดไปให้ชิดแผ่นที่คล้ายและเหมือนของตนเอง
๓) จัดความหวังของนักเรียนทั้งห้องออกเป็นหมวดหมู่ นับจำนวนแต่ละอาชีพ บอกความถี่ แล้วเขียนกำกับไว้ให้มั่นใจว่า นักเรียนทุกคนเห็นชัดๆ ถามถึงความมั่นใจในความสำเร็จของแต่ละอาชีพ
๔) ให้รุ่นพี่นิสิตหรือพี่เด็กดีมีที่เรียน ทั้งที่เรียนจบแล้วหรือที่กำลังเรียนในสขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนั้นๆ ออกมาเล่าเรื่องใหฟัง ว่า เรียนเป็นอย่างไรบ้าง อาชีพนั้นเขาทำอะไร ต้องเก่งเรื่องใด คนที่จะไปเรียนสาขานั้นต้องมีลักษณะอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไร ฯลฯ
๕) ร่วมกันสรุป AAR ว่า ได้อะไร เรียนรู้อะไรบ้าง ... มอบหมายการบ้านให้ไปคิดต่อ...ให้ละเอียด...
ข้อค้นพบ
๑) นักเรียนส่วนใหญ่อยากเป็นครู (ร้อยละ ๖๐) รองลงมาคือ ตำรวจ (ร้อยละ ๑๕) รองลงมาเป็นกลุ่มสุขภาพ คือหมอ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่สาธาณสุข (รวมกันประมาณร้อยละ ๑๕) ส่วนที่เหลืออยากเป็นสถาปนิก ๔ คน อยากเป็นปลัดอำเภอ อยากเป็นนักจิตวิทยา อยากทำงานในโรงแรม ฯลฯ
๒) เฉลี่ยแล้วนักเรียนมีความมั่นใจว่าจะบรรลุอาชีพที่ต้นหวังเพียงร้อยละ ๖๐
ผมจึงฝากการบ้านให้เด็กๆ ทุกคนได้ไปค้นหาตนเอง และแนวทางเส้นทางการเดินของตนเองให้แน่ชัดโดยเน้นให้วิเคราะห์พิจารณาเอกสารแนะแนวจากคณะต่างๆ ที่พี่ๆ นำไปมอบให้ ร่วมกับผู้ปกครอง ครู และเพื่อนๆ และตัดสินใจด้วยตนเอง ให้มั่นใจร้อยละ ๙๐-๑๐๐ และนำมาเสนออีกทีเมื่อเรากลับไป ผลเป็นอย่างไร จะกลับมารายงานให้ฟังนะครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น