CADL_KM-GE_๕๘-๐๑ : กลุ่มงานสารสนเทศ ครั้งที่ ๑

เป็นครั้งแรกในปีนี้ (๒๕๕๘) ที่เวที  KM แบบที่คาดหวังและใฝ่ฝันเกิดขึ้น "คุณเอื้อ" เวทีนี้ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ผู้บริหาร แต่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่ริเริ่มขึ้นเอง ตรงนี้เป็นก้าวสำคัญยิ่ง เพราะสำหรับผมแล้วนี่คือสิ่งที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานด้วยการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management (KM) ที่จำทำให้เราก้าวไปสู่ LO ตามความฝัน

ระหว่างการเดินทางกลับจากการไปร่วมประชุมเกี่ยวกับ  " Sony 4K technology กับการเรียนการสอนแบบ Active Learning" อาจารย์เอ็ม หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศ ของสำนักศึกษาทั่วไป บอกกับว่า เราน่าจะทำ KM กันบ่อยๆ  ... เห็นด้วยเต็มที่ครับ และยินดีมากๆ ที่กลายมาเป็นเวทีในวันนี้  โดยมี "คุณอำนวย" คือ อาจารย์เอ็ม หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศ นั่นเอง 

นอกจากเป็น "คุณเอื้อ" แล้ว คนเดียวกันยังทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" ด้วย คือเป็นคนที่จะช่วยให้การสนทนาพเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย และทำให้ทุกคนได้พูดในสิ่งที่ทำ นำคุยเพื่อคุ้ยและถอดบทเรียนหรือความรู้ฝังแน่นในตัวผู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ซึ่งทาง KM เราเรียกผู้ปฏิบัติว่า "คุณกิจ" 

ผมบอกเวทีวันนี้ว่า ตนเองจะเป็น "คุณลิขิต" ทำหน้าที่ ฟัง->คิด->เขียน และสะท้อนป้อนสิ่งที่สังเคราะห์ได้ ให้คุณกิจทั้งหลายได้ตรวจสอบดูว่า ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ที่ได้นี้ใช่ไหม เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อไป  

ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง  สรุปเกี่ยวกับการทำงานของกลุ่มงาน "สารสนเทศ" ได้ดังภาพ เพราะเป็นครั้งแรกของ เวที KM ของกลุ่มงานสารสนเทศที่ครบถ้วนทุกส่วนงานย่อยที่สุด  "คุณอำนวย" จึงตั้งประเด็น เพื่อทำให้ทุกคนเห็นตรงกัน รู้จักกัน ว่าใคร ทำอะไร ผมพยายาม สังเคราะห์ภาพรวมของงาน และบอกว่าแต่ละคนอยู่ส่วนไหนของภาพรวมของงาน  ได้ดังภาพ 



โดยอธิบายเป้าหมาย องค์ประกอบ หน้าที่บทบาท ได้ดังนี้ 
  • พันธกิจของ GE คือจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร GE (ซึ่งวันนี้ปรับปรุงถึง พ.ศ. ๒๕๕๘ แล้ว) ดังนั้นหน้าที่สำคัญที่สุดคือ "งานวิชาการ"  ซึ่งต้อง เปิดสอน->จัดสอน->จัดสอบ ฯลฯ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรฯ 
  • งานด้านอื่นๆ ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายสารสนเทศ งานบริการ อาคารเรียนรู้และภูมิทัศน์ จึงเป็นทรัพยากรสนับสนุนให้งาน "วิชาการ" บรรลุตามเป้าหมาย 
  • บอร์ด GE คือกรอบเหลี่ยมครอบสีเทาวงนอกสุด  หมายถึง ในการดำเนินงานทุกอย่าง จะมีบอร์ด GE เป็นผู้กำหนดทิศทาง โดยมีผู้อำนวยการสำนักฯ เป็นผู้นำ และมีฝ่ายบริหารเป็นผู้หนุน 
  • กลุ่มงานสารเทศ มีหน้าที่ (ในปัจจุบัน) ดังนี้ 
    • บริการห้องเรียน คือ จัดหาห้องเรียน ดูแลอาคารเรียนรวม จัดหาสื่อทัศน์ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงอาคารสถานที่
    • ให้บริการห้องเรียน สื่อ อุปกรณ์ฯ แก่อาจารย์ผู้สอน  เจ้าที่ๆ ทำงานส่วนนี้ เราเรียกว่า  เจ้าหน้าที่บริการ หรือ บร. 
    • ดูแลภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม คือ ดูแลให้ร่มรื่น สะอาด น่านั่ง น่าเรียน  เจ้าหน้าที่ๆ ทำส่วนนี้คือ พี่คนสวน นั่นเอง
    • ดูแลความสะอาดภายในอาคารและห้องน้ำ ... ไม่ต้องอธิบาย ... งานนี้เป็นของพี่แม่บ้าน 
    • งานพัฒนาระบบสารสนเทศ  ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สุดของสำนักศึกษาทั่วไป ล่าสุดได้สร้างระบบหนุนการทำงาน ๓ ระบบ ได้แก่   ๑) ระบบมอบหมายงาน ก็คือ TOR (Term of Reference) หรือ เรียกได้ว่า ระบบมอบหมายงานและจัดทำแผนปฏิบัติงาน  ๒) ระบบติดตามงานประจำวัน หรือเรียกว่า Time Sheet  และ ๓) ระบบจัดการความรู้ของตนเอง หรืออาจเรียกว่า SKM (Self Knowledge Management)  ที่กำหนดให้ทุกคนต้องเขียนสะท้อนผลการทำงานและการเรียนรู้ของตนเอง  .... เจ้าหน้าที่ๆ ทำส่วนนี้ คือ โปรแกรมเมอร์ 
    • งานพัฒนาเครือข่ายอาจารย์ผู้สอน  .... หรือ อาจเรียกว่า ชุมชนเรียนรู้ของอาจารย์ GE หรือที่นิยมเรียก PLC  (Professional Learning Community) ... เอาไว้เวลาดีๆ จะเขียนเล่าประสบการณ์ดีๆ ให้ฟังครับ ... คนที่เข้ามาทำส่วนนี้คือ CADL นั่นเอง 
    • งานพัฒนานิสิต ที่มุ่งคิดและสร้างนิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๙ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นิสิตอย่างถ้วนทั่วและถูกต้อง  โดยเบื้องต้นเล็งกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มนิสิตเด็กดีมีที่เรียน ที่สำนักศึกษาทั่วไปรับผิดชอบและดำเนินการอยู่แล้ว 
    • งานศูนย์พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ที่ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย งานศูนย์ภาษาฯ  ที่ทำผ่านมาและกำลังทำต่อไป ให้บริการ ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) จัดสอบ English Exit Exam  ปีการศึกษาละ ๙,๐๐๐ คน ๒) จัดการสอนเสริมสำหรับผู้สนใจพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษฟรี  และ ๓) จัดสอนติวเพื่อช่วยให้สอบผ่านเกณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด  ... ทั้งหมดที่ว่ามา ผู้ทำหน้าที่เรียกว่า ผู้ดูแลศูนย์ภาษาฯ 
    • งานโรงพิมพ์ ไม่ต้องอธิบาย  ปีการศึกษาที่ผ่านมา  มากกว่า ๑,๖๐๐,๐๐๐  สำเนา ทั้งข้อสอบ หนังสือ เอกสารประกอบการสอน วิทยานิพนธ์ ฯลฯ  ... เรียกว่า ช่างพิมพ์ ๕ คน 
  • งานช่างศิลป์  ทำเล่ม ทำปก ทำวีดีทัศน์ ตัดต่อคลิป เผยแพร่ 
  • งานประชาสัมพันธ์  ทำจุลสาร และงานออกแบบต่างๆ และดูแลข่าวและเผยแพร่กิจกรรมของชาว GE หน้าเว็บทั้งหมด 
สังเกตว่า  ผู้ที่ต้องทำ TOR ตอนนี้จะมีเส้นโยงสีเขียวอ่อนๆ มาจากผู้บริหาร ผ่านเข้ามาด้าขวา และจะมีเส้นสีดำชี้นำออกไปด้านซ้าย กลับไปสู่ผู้บริหาร หมายถึง ผู้บริหารสามารถมอบหมายและติดตามงานผ่านระบบสารสนเทศนี้ได้เลย .... หากสำเร็จจะเป็นต้นแบบของการทำงานหลายๆ หน่วยงานต่อไปครับ 








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"