วันที่ ๑ - ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับโอกาสจาก ผอ.สุดใจ สุปันบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาของ สพม. ๒๖ ให้เป็นตัวแทน ๑ ใน ๔ ของตัวแทนจากจังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเกณฑ์การประเมินคุณธรรมของผู้เรียน ซึ่งจัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประมาณ ๕๐ คน กิจกรรมสำคัญคือ นำเอาเกณฑ์การประเมินฯ เดิม ซึ่งผมเคยเขียนสังเคราะห์ตีความไว้ที่นี่ มาปรับปรุงใหม่ โดยแบ่งการทำงานเป็น ๒ ทีม ทีมผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศน์ ผู้บริหารเขตและตัวแทนจากมหาวิทยาลัยร่วมกันปรับปรุงกระบวนการหรือแนวทางคัดเลือก ส่วนตัวแทนจากโรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญปรับปรุงและกำหนดเกณฑ์การประเมินคุณธรรม (ลงถึงรายละเอียด) ... ผม AAR ว่า ผมได้เรียนรู้และเข้าใจระเบียบการประเมินฉบับปรับปรุงนี้พอสมควร แม้จะไม่ได้ร่วมคิดในรายละเอียดของเกณฑ์ฯ แบบ "รูบิค" ที่จะนำมาเล่าให้ท่านฟังต่อไปนี้
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ ท่าน ผอ.สุดใจ ขับเคลื่อนโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" ของ สพม. ๒๖ อย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) กันระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งระดับอาชีวะ วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย กับ สพม.๒๖ อย่างเป็นทางการ ขอยกย่องท่าน ผอ.สุดใจ ไว้ตรงนี้ด้วยครับ ผมนึกได้เรียนรู้จากท่านมาก และวิธีการจัดทำพิธีลง MOU ที่ท่านทำในวันนั้น จะเป็นต้นแบบและรูปแบบให้เราปฏิบัติตามต่อไป
(ดูภาพ วัน MOU ทั้งหมดได้ที่นี่)
เรา CADL ขอรับงาน "เด็กดีมีที่เรียน" มาจากส่วนงานบริหารและแผนยุทธศาสตร์ของสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อการทำงานอย่างบูรณาการกับโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนิสิต (อ่านที่นี่) โดยเฉพาะด้านคุณธรรมจริยธรรม
สำหรับการรับนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนประจำปี ๒๕๕๘ นี้ เราได้จัดทำเกณฑ์การประเมินคุณธรรมจริยธรรมโดยใช้เกณฑ์ฯของ สพฐ. ที่ได้มีไปร่วมพัฒนาขัางต้น แล้วนำไปเผยแพร่และสื่อสารกับครูผู้อำนวยการและครูแนะแนวของโรงเรียนสังกัด สพม. ๒๖ ทุกโรงเรียน (และขอแจ้งไปยังโรงเรียนในศูนย์การเรียนรู้ ปศพพ. อีสานตอนบน โรงเรียนในสังกัด อบจ. มหาสารคาม และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม ผ่านบันทึกนี้ด้วยครับ) ท่านผู้สนใจ ดาวน์โหลดได้ที่ คู่มือประเมินคุณธรรมเพื่อคัดเลือกนิสิตเข้าเรียนในโครงการเด็กดีมีที่เรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี ๒๕๕๘
กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการฯ ในปีนี้ แตกต่างจากปี ๒๕๕๗ นิดหน่อย ตรงที่ปีนี้กรรมการคัดเลือกจะเป็นกรรมการจากภายในทั้งหมด โดยมีตัวแทนจากสาขาวิชามาเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เอง ในขณะที่โรงเรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือก "นักเรียนที่ดี" และเหมาะสมที่สุดสำหรับสาขาต่างๆ เพียง ๑ คน ต่อหนึ่งสาขา แล้วให้ทาง สพม. ๒๖ ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐานการสมัครเบื้องต้น จัดส่งมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อดำเนินการจัดสอบสัมภาษณ์และประกาศผลต่อไป
จากการประชุมระหว่างผมกับครูแนะนำของทุกโรงเรียนใน สพม.๒๖ เราตกลงกันว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะดำเนินการคัดเลือกฯ ให้แล้วเสร็จก่อนโครงการรับนิสิตตามโควต้ารับตรง กล่าวคือ จะประกาศเรื่องไปยัง โรงเรียนตอนต้นเดือนตุลาคม ให้โรงเรียนคัดกรองให้แล้วเสร็จภายในอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน และมหาวิทยาลัยจัดสอบสัมภาษณ์และประกาศผลภายในเดือนธันวาคม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจาก "ตุ๊กตา" ที่ผมนำไปเสนอดังภาพด้านล่าง เว้นแต่วันที่อาจเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
ประกอบการสังเกต สัมภาษณ์ สอบถามผู้เกี่ยวข้อง หรือ แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ
เช่น ทึกการเยี่ยมบ้าน บันทึกความดี ร่องรอยหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
และพิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio)
ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานส่วนตัว
และผลงานที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นกระบวนการ
แล้วเกิดผลดีต่อการพัฒนาการเรียนการสอน
และหลักฐานร่องรอยที่นำเสนอสามารถสะท้อนให้เห็นภาพความสามารถที่แท้จริงของเจ่าของแฟ้มได้อย่างชัดเจน
โดยพิจารณาตามเกณฑ์การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลในแฟ้มสะสมงานก่อน
แฟ้มสะสมผลงานที่ได้รับการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลในแฟ้มสะสมผลงาน
โดยภาพรวมตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป จะนำไปประเมินระดับคุณธรรมแต่ละคุณธรรมของผู้เรียน
โดยใช้เกณฑ์การประเมินคุณธรรม ส่วนแฟ้มสะสมผลงานที่ได้รับการประเมินต่ำกว่าระดับ ๓
ครูควรชี้แจงข้อบกพร่องต่าง ๆ
ให้ผู้เรียนได้ทราบเพื่อปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป
วิธีการประเมินคัดเลือกนักเรียนของโครงการเด็กดีมีที่เรียน จะประเมินใน ๒
ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านคุณสมบัติพื้นฐาน และ ๒) ด้านกิจกรรม/ผลงานดีเด่น
ด้านคุณสมบัติพื้นฐาน เป็นการประเมินระดับคุณธรรมของผู้เรียนทั้ง ๑๘ ข้อ โดยใช้แบบบันทึกผลการประเมินคุณธรรม จริยธรรม
ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (ดังภาพด้านล่าง) ส่วนด้านกิจกรรมและผลงานดีเด่น จะเน้นผลงานการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
หรือการการทำความดีต่างๆ ที่ผู้เรียนสั่งสมไว้ และเสนอไว้ในแฟ้มสะสมงาน สถานศึกษาอาจสร้างกระบวนการประเมินฯ
ให้ผู้ปกครองและผู้เรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการปลูกฝังและส่งเสริมคุณธรรมของผู้เรียนในปกครองได้อย่างเหมาะสม
และสามารถพัฒนาคุณธรรมของตนได้อย่างเป็นระบบ
ด้านคุณสมบัติพื้นฐาน ตกลงกันว่าปีนี้
ให้ใช้เกณฑ์คุณธรรม ๑๘ ประการ ซึ่งแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่
คุณธรรมในการพัฒนาตนเอง คุณธรรมเพื่อพัฒนาการทำงาน
และคุณธรรมเพื่อพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
โดยมีนิยามและเป้าหมายของแต่ละข้อคุณธรรมตามที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ โดยแต่ละข้อคุณธรรม มีเกณฑ์ประเมินระดับคุณธรรมตามเกณฑ์รูบิค ดังนี้
สังเกตว่า ระดับคุณธรรมที่กำหนด จะใช้หลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ มุ่งตรวจสอบอุปนิสัย "พอเพียง" ของนักเรียน ซึ่งต้องการเกิดใน ๓ ระดับ ได้แก่
- ระดับตนเอง คือน้อมนำมาปฏิบัติกับตนเองจนเกิดผล เกิดที่ "คน" ที่นำมาปฏิบัติ เป็น "เด็กดี" ที่มีคุณธรรมพื้นฐานประจำใจ
- ระดับชุมชน คนใกล้ตัว รวมถึงครอบครัว เพื่อน พี่น้อง ฯลฯ คือ การปฏิบัติตนกับผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การทำงาน ฯลฯ
- ระดับประเทศชาติ สังคม ซึ่งเน้นการ ทำตนเป็นแบบอย่าง และขยายผลความสำเร็จของตนสู่ผู้อื่น การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การเสียสละ จิตสาธารณะ ฯลฯ
สิ่งที่ทางโรงเรียนจะต้องนำส่งให้ทางสำนักงานเขตฯ เพื่อส่งให้มหาวิทยาลัยต่อไป มีดังนี้
๑) หลักฐานการสมัคร ซึ่งจะกำหนดไว้ในประกาศการรับสมัคร เช่น ใบสมัคร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทรานสคริป ฯลฯ
๒) แบบรายงาน ก. แบบรายงานตนเอง
๓) แบบรายงาน ข. แบบสรุปข้อมูลคุณลักษณะพื้นฐานและกิจกรรม/ผลงานดีเด่น
๔) แบบบันทึกการประเมินคุณธรรมตามคู่มือฯ
ส่วนแฟ้มสะสมงาน ให้นักเรียนเตรียมไปในวันสัมภาษณ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะประกาศให้ทราบพร้อมการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น