PLC_CADL_023 : ห้องเรียนในอนาคต

กลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ในการประชุมผู้บริหารและหัวหน้ากลุ่มงาน GE เรื่อง ร่างจัดทำคำขอตั้งงบประมาณประจำปี ๒๕๕๘  มีประเด็นสำคัญที่ผมนำเสนอ ๓ เรื่องที่เราควรให้ความสำคัญตามลำดับได้แก่ ห้องเรียน ห้องน้ำ และห้องทำงาน ดังได้เสนอไว้ดังนี้

หากท่านเป็นครูใน "โรงเรียนดีศรีตำบล" ท่านจะคิดถึง ๕ ห้องชีวิต ที่วัดธรรมกายร่วมกับ สพฐ. ร่วมมือกันขับเคลื่อนมาแล้วหลายปี  ซึ่งหากมองในเชิงบวก เป็นโครงการ "มุ่งดี" บ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ผ่านกิจกรรมที่ทำใน ๕ ห้อง ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก และห้องทำงาน.... แต่ผมไม่ได้นำหลักนี้มาใช้ครับ... เพียงแต่พิจารณาตามเหตุผลและเป้าหมายของการพัฒนาให้เป็นห้องเรียนในอนาคต

ห้องเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเอื้อให้ "ครูฝึกก" สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การสร้าง "ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑" ให้กับนิสิต ซึ่งได้นำเสนอไว้แล้วในบันทึกเรื่อง "รูปแบบการพัฒนารายวิชาศึกษาทั่วไป" โดยคำนึงถึงธรรมชาติของรายวิชาเป็นสำคัญ

ด้วยหลักคิดข้างต้น สามารถแบ่งลักษณะของ "ห้องเรียนในอนาคต" ออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่



  • ห้องเรียนเน้นการบรรยาย ถ่ายทอดความรู้ (Lecture Room, LR)   เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่  ผู้สอนควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  มีประสบการณ์ หรือเป็นผู้ประสบผลสำเร็จในชีวิต บรรยายให้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจให้เรียนรู้ต่อยอดต่อเนื่องไป โดยมีการบันทึกเทปและเผยแพร่คลิปวีดีโอออนไลน์ Youtube... ลักษณะเบื้องต้นที่ควรมีคือ
    • มีจอภาพขนาดใหญ่พอที่ทุกคนในห้องจะเห็นพาวเวอร์พอยท์ชัดเจน (หรือมีทีวีจอแบนขนาดใหญ่หลายจุด)
    • เก้าอี้เรียนเป็นแบบ "เล็คเชอร์" มีที่รองเขียน จะดีมากถ้า เป็นเก้าอี้แบบยึดกับพื้น ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
    • มีระบบเสียงที่ดี ฟ้งได้อย่างชัดเจน (ไม่สะท้อนเอ็คโค่) ไม่แหลม ไม่ทุ้มเกินไป
    • สิ่งที่ต้องมีไม่มีไม่ได้ คือไมโครโฟนสำหรับผู้ฟัง สำหรับการสอบถามผู้สอน ถ้าจะให้ดี ต้องเป็น "ไมค์ลอย" อย่างน้อย ๓ ตัว
    • อาจเป็นพื้นต่างระดับเพื่อให้ไม่บังกันและกันและจุนิสิตได้ปริมาณมาก
  • ห้องเรียนเน้นอภิปรายและนำเสนอ (Discuss & Present Room, DPR)  สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่ "เน้นกระบวนการ" เน้นให้นิสิตได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ นิสิตได้ "ฝึกคิด" ผ่านกิจกรรมอภิปรายกลุ่ม นำผลจาการ "ฝึกทำ" (เรียนจากการปฏิบัติ) โครงงานต่างๆ มาสังเคราะห์ และสร้างสรรค์เป็นสื่อเผยแพร่ และนำมาเสนอหน้าชั้นเรียน... ลักษณะของห้องเรียน DPR ควรมีอุปกรณ์ดังนี้
    • มีกระดานหลายอัน (รอบห้อง) พร้อมเครื่องเขียน เพื่อเอื้อให้นิสิตสามารถแบ่งกลุ่มกันอภิปราย โดยแต่ละกลุ่มมีพื้นที่กระดานของตนเอง เพื่อให้ง่ายต่อการระดมสมอง วิเคราะห์ปัญหา ระบุเป้าหมายร่วมกัน ฯลฯ
    • เก้าอี้เคลื่อนย้ายได้ เพื่อสะดวกต่อการแบ่งกลุ่มให้นิสิตได้อภิปรายโดยที่เสียงไม่รบกวนกันมากเกินไป มีโต๊ะสำหรับทำงานและวางงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (ถ้ามี)
    • มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวนหนึ่ง หรืออย่างน้อย ๑ ตัว เพื่อใช้นำเสนอผลงานของกลุ่มหน้าชั้นเรียนอย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น เพาเวอร์พอยต์ คลิปวีดีโอตัดต่อ หนัง โปรแกรมสำเร็จรูป ฯลฯ 
    • มีระบบเสียงที่ดี และมีไมโครโฟนหลายตัว (ไมค์ลอย)
    • มีอุปรกรณ์สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น กระดาษบรูฟพร้อมสี 
  • ห้องเรียนรู้ด้วยตนเอง  (Learning Room, LR)  เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าข้อมูล ทำการทดลอง รวมทั้งการนำไปใช้ในสถานการณ์จริงในชีวิต  ห้องเรียนนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาจารย์สอน แต่เอื้อและส่งเสริมให้นิสิตสอนกันและกันได้สะดวก (สำนักวิทยบริการ เป็นตัวอย่างหนึ่งของห้องเรียนรู้ด้วยตนเอง) ... ควรมีลักษณะดังนี้ 
    • มีวารสาร หนังสือ ตำรา 
    • คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพียงพอต่อจำนวนนิสิต 
    • ก้าวอี้นั่งสบาย บรรยากาศผ่อนคลาย 
    • มีห้องประชุมหรือห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับการอภิปรายกลุ่มได้ โดยไม่รบกวนกลุ่มอื่นๆ  พร้อมไวท์บอร์ด
    • มี "เวที" หรือ สถานที่แสดงผลงานของนิสิต โดยเฉพาะผลงานเด่นของนิสิตซึ่งอาจได้มาจากการจัดประกวดผลงานอย่างเป็นระบบ 
      
อาทิตย์นี้ ผมชวนหัวหน้าสำนักฯ และทีมสารสนเทศ ไปเดินดูห้องเรียนเกือบทั้งหมดของ GE เบื้องต้น ผมพบแล้วว่า ที่ไหนจะเป็น "ห้องเรียนแห่งอนาคต" ต้นแบบที่จะนำร่องเป็นห้องแรกๆ...

วันหลังจะมาพูดเรื่อง "ห้องน้ำ" กับ "ห้องทำงาน" ครับ โปรดติดตามตอนต่อไป.....

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๔ :ขยายความสำเร็จสู่ สพป.มค.๑

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๑๐) กิจกรรม After Action Review (AAR)

PLC อบจ. ขอนแก่น _๐๔ : ถอดบทเรียน "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"